พับแผนคลัสเตอร์หุ่นยนต์ เหตุไม่คุ้มลงทุน


คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบคลัสเตอร์พบว่า การลงทุนคลัสเตอร์หุ่นยนต์ในประเทศไทยยังมีอุปสรรค และไม่คุ้มค่ากับการที่จะลงทุน

คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เปิดเผยว่าได้รับรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์หุ่นยนต์ พบว่าการลงทุนคลัสเตอร์หุ่นยนต์ในไทยยังมีอุปสรรค หลังภาคเอกชนเดินทางไปเยี่ยมชมบริษัทผู้ผลิตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ประเทศญี่ปุ่น และผู้ประกอบการเห็นว่ายังไม่คุ้มค่าที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เพราะไทยยังมีความต้องการใช้ไม่มากพอ

เบื้องต้นจึงควรส่งเสริมในส่วนที่ไทยสามารถผลิตเองได้ก่อน และควรเริ่มจากกระตุ้นความต้องการเพื่อให้เกิดการผลิตในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอมองว่าการพัฒนาคลัสเตอร์หุ่นยนต์แตกต่างจากคลัสเตอร์อื่น คือจะไม่มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย และจำเป็นต้องมีมาตรการทางภาษีจูงใจนักลงทุนที่ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าตัดสินใจลงทุน เพราะเห็นว่ายังได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า และไม่ควรเจาะจงอุตสาหกรรม แต่ควรเจาะจงที่กระบวนการผลิต

ขณะเดียวกัน โครงการลงทุนที่ใช้หุ่นยนต์ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนในรูปแบบกองทุน หรือการร่วมลงทุน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ การหักค่าใช้จ่าย หักค่าเสื่อม เพื่อกระตุ้นให้มีความต้องการใช้ผู้ผลิตที่เป็นบริษัทคนไทย โดยผ่านกลไกบัญชีนวัตกรรม

ซึ่งจากข้อมูลบีโอไอ พบว่าจำนวนคำขอรับการส่งเสริมลงทุนกิจการหุ่นยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-25 มิถุนายน 2559 มีทั้งสิ้น 3 โครงการ วงเงินลงทุน 256.7 ล้านบาท โดยมี 1 โครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องกลึงอัตโนมัติ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังการผลิตปีละ 650 ชุด มูลค่าลงทุน 222 ล้านบาท อีก 2 โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณา คือ กิจการผลิตเครื่องประกอบชิ้นงานอัตโนมัติ เครื่องตรวจสอบ/บรรจุชิ้นงานอัตโนมัติ เครื่องหยิบจับ/ขนย้ายชิ้นงานอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่จังหวัดลำพูน กำลังการผลิตปีละ 65 ชุด มูลค่า 22.7 ล้านบาท และกิจการผลิตเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และเครื่องรับและจ่ายยาอัตโนมัติสำหรับใช้ในสถานพยาบาล ที่ จ.ระยอง กำลังการผลิตปีละ 120 ชุด มูลค่า 12 ล้านบาท