บสย. ช่วยเอสเอ็มอีค้ำสินเชื่อกว่า 4.8 หมื่น ลบ.


บสย. ช่วยเอสเอ็มอีค้ำสินเชื่อกว่า 4.8 หมื่น ลบ.

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ค้ำประกันเอสเอ็มอีรายย่อยที่เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก โดย 6 เดือนแรกค้ำประกันสินเชื่อได้แล้วกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. เปิดเผยว่า ในปีนี้บทบาทการทำงานของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. มีความโดดเด่น เพราะได้ขยายการค้ำประกันไปยังเอสเอ็มอีรายขนาดเล็กๆ ที่เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก โดย 6 เดือนแรกของปีนี้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อได้แล้วกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าทั้งปีนี้จะค้ำประกันสินเชื่อได้ถึงหลักแสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน บสย.อยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสินเชื่อ พ.ศ. 2534 ใหม่ คาดว่าผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเดือน กรกฏาคมนี้ เป้าหมายสำคัญคือ การขยายขอบเขตการค้ำประกันของ บสย.ให้ครอบคลุมถึงผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ กลุ่มนันแบงก์/ ลีสซิ่ง /แฟกเตอริ่ง /นาโนไฟแนนซ์ จากปัจจุบันที่ให้บริการค้ำประกันลูกค้าของสถาบันการเงินได้เท่านั้น

ทั้งนี้ บสย.ได้เข้าหารือกับตัวแทนผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ เพื่อเตรียมออกโครงการค้าประกันสินเชื่อให้นาโนไฟแนซ์ สำหรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย  โดยเป็นการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์

อย่างไรก็ดี จะแตกต่างจากโครงการสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ที่ บสย.ค้าประกันสินเชื่อผ่านธนาคาร โดยระยะที่ 1 ได้ค้ำประกันสินเชื่อให้ แม่ค้าแผงลอย พ่อค้า แม่ค้า ในตลาดสดไปแล้ว 5,000 ล้านบาท

ล่าสุด บสย.ได้ทำโครงการระยะที่ 2 โดยลงนามร่วมกับสถาบันการเงิน 17 แห่ง มีวงเงินถึง 1.35 หมื่นล้านบาท สิ้นสุดโครงการปี 2560 เบื้องต้นมี ธนาคารออมสิน /ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย และธนาคารทิสโก้ เริ่มส่งลูกค้ามาเข้าโครงการแล้ว โดยคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 5 ล้านบาท บสย.ค้ำประกันได้เต็ม 100%

ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องหาหลักทรัพย์ หรือบุคคลมาค้ำประกันเพิ่ม รัฐบาลรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในปีแรก ส่วนปีถัดไปคิดค่าธรรมเนียม 1-3% โดย บสย.จะให้การค้ำประกันต่อรายสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท นานสูงสุด 10 ปี ความรับผิดในการจ่ายค่าประกันชดเชยอยู่ที่ 30-50% ขึ้นอยู่กับค่าธรรมเนียมค้ำประกัน

นอกจากนี้ บสย.เตรียมลงนามสถาบันการเงินพันธมิตร 18 แห่ง ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่ และนวัตกรรมหรือStartup & Innovation ภายในเดือน สิงหาคมนี้นี้ วงเงินค้ำประกันรวม 1 หมื่นล้านบาท สิ้นสุดโครงการ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งคาดว่าก่อนสิ้นปีนี้ จะค้ำประกันสินเชื่อให้ลูกค้าได้ 2,000 ล้านบาท รองรับสถาบันการเงินที่หันมาปล่อยสินเชื่อสตาร์ทอัพและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมากขึ้น

ซึ่งโครงการนี้มีการรับค้ำประกันเป็นแพ็กเกจ ทำให้รองรับความเสียหายจากลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลได้ถึง 50% ค่าธรรมเนียมปีแรก ลูกค้าจ่ายเพียง 2% รัฐจ่ายสมทบอีก 1.5% และ บสย.จ่ายสมทบอีก 0.2% รวมเป็น 3.7% ค่าธรรมเนียมนี้จะถูกเก็บรวมไว้เป็นกองกลางเพื่อใช้จ่ายเป็นเงินชดเชยต่อไป