หากพูดถึงความนิยมดื่มกาแฟในบ้านเรา ย้อนไปเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา คนไทย 1 คน มีอัตราการดื่มกาแฟเฉลี่ยเพียง 20 แก้วต่อปีเท่านั้น แต่ด้วยรสนิยมความชอบส่วนบุคคล บวกกับกระแสนิยม จึงทำให้การบริโภคกาแฟของคนไทยสูงขึ้นเป็นปีละ 200 แก้วต่อคน ในปี 2559 และเพิ่มขึ้นปีละ 220 แก้วต่อคนในปี 2560 ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้ยังนับว่าน้อย หากเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีอัตราเฉลี่ยสูงถึง 1,000 แก้วต่อคนต่อปี
ความต้องการบริโภคกาแฟที่มากขึ้นนี้ สะท้อนถึงช่องว่างของโอกาส เพราะเราผลิตกาแฟคุณภาพดี ในราคาจับต้องได้ ซึ่งซีพี ออลล์ ก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการสร้างป่าสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์, รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด กล่าว
ดร.นริศ กล่าวต่อว่า ซีพี ออลล์ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟมานานแล้ว โดยในปี 2556 ได้รับเชิญจากหน่วยงานรัฐหลาย ให้มามอบความรู้และสนับสนุนการปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจทดแทนพืชตระกูลข้าวโพด ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่ฐานะยากจน ซึ่งกาแฟเป็นพืชยืนต้น ใช้เวลาปลูก 3 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นและอากาศปลอดโปร่งปราศจากหมอกควัน
แต่ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่คือ เมื่อเริ่มต้นผลิตแล้ว จะมาจบตรงที่ ‘จะขายใคร’ ทำให้เกษตรกรไปต่อไม่ได้ และป่าก็ขยายต่อไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องการสนับสนุนให้คนในชุมชนมีรายได้และหวงแหนป่าไม้ เกิดความยั่งยืนในผืนป่า จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐฯและซีพี ออลล์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ก็ทำให้เกิดไม้กาแฟยืนต้นหลายพันไร่ในจังหวัดน่าน
ซีพี ออลล์ ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ ยกระดับชีวิตคนในชุมชน
- ในการดำเนินงาน กรมป่าไม้ จะเป็นผู้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้ ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่เป็นการรุกล้ำป่า
- จากนั้น สำนักงานพัฒนาที่ดิน จะเข้ามาช่วยปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรมจากการปลูกข้าวโพด ให้พร้อมต่อการเพาะปลูกต้นกาแฟ
- กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาช่วยจัดหาสายพันธ์กาแฟที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก โดยเป็นกาแฟพันธ์เชียงใหม่ 80 ซึ่งเป็นสายพันธ์อาราบิก้าที่เหมาะต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ภูเขา และเป็นพันธุ์กาแฟที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เพราะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์
- โดย กรมส่งเสริมการเกษตร จะเข้ามาให้คำแนะนำด้านการเพาะปลูก พร้อมได้ให้ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รับหน้าที่เป็นผู้คอยติดตามดูแล และให้ความรู้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
- กระบวนการสุดท้ายคือ ซีพี ออลล์ จะทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อ ซึ่ง ซีพี ออลล์ มองเห็นแล้วว่าเป็นโครงการที่ดี จึงได้สนับสนุนด้านการตลาด การให้คำปรึกษาแนะนำ ถึงคุณภาพและมาตรฐานของเมล็ดกาแฟที่ตลาดต้องการ พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ และเทคโนโลยี Honey Process กระบวนการแปรสภาพจากผลเชอรี่ ออกมาเป็นเมล็ดกาแฟพร้อมคั่ว โดยนำผลกาแฟสุกมาปอกเปลือกด้วยเครื่องสี กำจัดเมือกด้วยการตากให้แห้ง ในโรงตากที่มีพลาสติกคลุมเพื่อรักษาความสะอาด ทำให้ได้ราคาเพิ่มขึ้นกว่าการขายเมล็ดกาแฟสุก หรือที่เรียกกันว่าผลเชอรี่
ตัดระบบพ่อค้าคนกลาง ดันขยายสาขา รองรับผลผลิต
ช่วงแรกเริ่ม ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ปี 2558 มีผลผลิตเพียง 700 กิโลกรัมเท่านั้น เนื่องจากคนในท้องถิ่นยังไม่มั่นใจมากนัก ต่อมาปี 2559 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,300 กิโลกรัม เพราะคนในชุมชนมองเห็นแล้วว่ามีการซื้อขายกันอย่างรวดเร็วและได้ราคาดี จนล่าสุดปี 2560 ผลผลิตได้พุ่งสูงถึง 15,000 กิโลกรัมบนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1,700 ไร่ และคาดว่ายอดผลผลิตรวมทั้งปี 2561 จะเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 – 40,000 กิโลกรัม
ซีพี ออลล์ ยืนยันว่าจะให้ราคาดีกว่าท้องตลาดถึง 10% และสามารถซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรได้เพิ่มสูงขึ้นตามผลผลิต เนื่องจากซีพี ออลล์ มีร้านกาแฟมวลชนและแบรนด์กาแฟสด all cafe’ ในเซเว่นฯ ซึ่งหากตัดระบบพ่อค้าคนกลางออกไป เป็นการซื้อโดยตรงจากเกษตรกร ก็จะทำให้ช่วยลดต้นทุนในระบบของพ่อค้าคนกลางไปได้ถึง 15% ส่วนอีก 5% ที่เหลือนั้น ซีพี ออลล์ จะนำไปเป็นทุนสนับสนุนเกษตรกร รวมถึงนำไปเป็นค่าบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่สำคัญทางซีพี ออลล์ ไม่ได้ผูกขาดการค้าแต่อย่างใด เพราะหากเกษตรกรต้องการขายกาแฟให้พ่อค้ารายอื่นก็สามารถทำได้ พร้อมกันนั้น ซีพี ออลล์ ยังมีแผนขยายร้านกาแฟเพิ่ม เพื่อรองรับผลผลิตที่ออกมาไม่ให้ล้นตลาด
เกษตรกรปลื้ม เพาะปลูกง่าย รายได้เข้าชุมชน เติมเต็มคุณภาพชีวิต
นายธนวัฒน์ จามะรัตน์ ผู้นำชุมชน และเกษตรกรคนแรกที่เข้าร่วมโครงการปลูกกาแฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ก็ได้แค่เก็บไว้กินเอง เพราะปลูกบนภูเขา ไม่เหมือนกับปลูกบนที่ราบ แต่หลังจากมีโครงการนี้เข้ามาก็ทำให้มีพืชเศรษฐกิจทางเลือกมากขึ้น ทั้งยังดูแลง่ายกว่าพืชชนิดอื่น เพราะไม่ต้องใช้สารเคมีในการเร่งผลผลิต และช่วยให้ป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ ปีแรกมีเกษตรกรเข้าร่วมไม่ถึง 10 ราย ปัจจุบันมีเกษตรกรในชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 50 ราย สิ่งที่พอใจที่สุดคือ เราปลูกครั้งเดียวแล้วรอเก็บผลผลิตได้ต่ออีกหลายปี ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ซีพี ออลล์ ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มุ่งสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่
นอกจากนี้ ซีพี ออลล์ ยังมีแนวคิดจะทำให้ธุรกิจขายกาแฟเป็นประโยชน์กับสังคมและชุมชน จึงได้จัด ‘โครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน’ เมื่อปี 2553 เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษา และเปิดอบรมให้กับผู้สนใจธุรกิจกาแฟเดือนละครั้ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เน้นความรู้ด้านการวางรากฐานธุรกิจที่มั่นคง ครอบคลุมทุกเนื้อหาการทำธุรกิจร้านกาแฟ ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการอบรมไปแล้วจำนวน 79 รุ่น กว่า 8,500 คน
‘โครงการ 1 บาท ต่อ 1 แก้ว’ ถือเป็นโครงการซีเอสอาร์ต่อเนื่องจากโครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพ ที่นอกจากต้องการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับคนไทยแล้ว ยังต้องการส่งต่อคุณค่า โดยจะหักรายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มกาแฟมวลชนทุกแก้วทุกเมนู 1 บาท ต่อ 1 แก้ว บริจาคเป็นสาธารณประโยชน์แก่วัดพระบาทน้ำพุ, วัดสวนแก้ว, และมูลนิธิสุทธาสิณีน้อยอินทร์เพื่อเด็กและเยาวชน ต่อไป
นอกจากน่านแล้ว ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ซีพี ออลล์ ให้การสนับสนุนเกษตรกร เช่น สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง เชียงใหม่ และเชียงราย แต่จังหวัดน่านถือเป็นโมเดลต้นแบบ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐฯหลายหน่วยงาน สำหรับจังหวัดอื่นๆที่สนใจ ซีพี ออลล์ ก็ยินดีสนับสนุนและให้ความรู้ในการปลูกกาแฟคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งโครงการเพื่อสังคมต่างๆเหล่านี้ ซีพี ออลล์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย โดยเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ไปพร้อมๆกัน ขณะเดียวกันก็จะได้ร่วมกันพัฒนาทุกกระบวนการผลิตกาแฟเพื่อเพิ่มคุณภาพและศักยภาพ อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จไปด้วยกัน