เผยรายละเอียด พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง


วันนี้ (27 พ.ค.63) สภาผู้แทนราษฎรจะมีการประชุมพิจารณา พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยมีจำนวนวงเงินกู้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาท

สำหรับการประชุมในครั้งนี้มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุมด้วย แน่นอนว่า พ.ร.ก. ดังกล่าวกลายเป็นที่จับตามองของหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก ดังนั้น เรามาดูกันว่าเงินกู้ดังกล่าวถูกนำไปใช้จ่ายในเรื่องอะไรบ้าง

พ.ร.ก. กู้เงินแก้ปัญหาโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท นั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 แผนงานด้วยกัน ได้แก่

1.งบประมาณก้อนแรก จำนวน 6 แสนล้านบาท

  • ใช้ช่วยเหลือ เยียวยาให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ จำนวน 550,000 ล้านบาท
  • ใช้สำหรับด้านสาธารณสุข และโครงการเกี่ยวกับการแพทย์ จำนวน 45,000 ล้านบาท

2.งบประมาณก้อนที่สอง จำนวน 4 แสนล้าบาท

  • ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบการไวรัสโควิด-19 โดยเน้นไปที่เศรษฐกิจฐานราก สร้างช่องทางการตลาด มีการจ้างงานเกิดขึ้นในชุมชน
  • โครงการลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
  • กระตุ้นการบริโภคทั้งภาคครัวเรือน และเอกชน
  • สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในระดับท้องที่

นอกจากนี้ พ.ร.ก. ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ในจำนวน 5 แสนล้านบาท รวมถึง พ.ร.ก. ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน จำนวน 4 แสนล้านบาท โดยตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund (BSF) ซึ่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยซื้อ-ขาย หน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว ที่ถูกนำเข้าประชุมในสภาผู้แทนราษฏรเพื่อพิจารณา

ทั้งนี้ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านบาท