ครม.ยืดเวลาปล่อยกู้ซอฟต์โลน ช่วย SME เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ


ผู้ประกอบการเฮ! คณะรัฐมนตรียืดระยะเวลาปล่อยกู้ซอฟต์โลนถึงกลางปีนี้ ช่วย SME อาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทบทวนมติเกี่ยวกับมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID – 19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 และมาตรการช่วยเหลือ SME

โดยอนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาการขอสินเชื่อและพิจารณาสินเชื่อออกไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ของธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย) ให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยยังคงเหลือวงเงินภายใต้โครงการอีก 2,142 ล้านบาท

2.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID – 19) ซึ่งธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำหรือเกษตรกรรายย่อย ให้ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งรวม 2 ธนาคาร มีวงเงินคงเหลือทั้งสิ้น 14,365 ล้านบาท ธนาคารออมสินยังเหลือวงเงิน 2,990 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ยังมีวงเงินคงเหลืออีก 11,375 ล้านบาท

3.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID – 19) ของธนาคารออมสิน จำนวน 5,000 ล้านบาท ให้จัดสรรวงเงินที่เหลือ 2,987 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินไปดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ และรวมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยทางธรรมชาติ

4.โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ของธนาคารออมสิน : ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วงเงินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก จำนวน 10,000 ล้านบาท ยังคงมีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีกจำนวน 7,425 ล้านบาท หากรวมวงเงินจากโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ฯ ธนาคารออมสินที่เหลือ 2,987 ล้านบาท จะมีวงเงินในการปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ รวมทั้งสิ้น 10,412 ล้านบาท

ทั้งนี้ การขยายมาตรการสินเชื่อในโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบรายย่อย ผู้ประกอบการอิสระ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอน