“ค้าปลีก” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยปัจจัยที่ดูเหมือนว่าจะไม่เอื้ออำนวยสักเท่าไหร่นัก จนทำให้สถานการณ์ของธุรกิจตอนนี้ดูจะไร้หนทาง หากยังไม่มีมาตรการจากภาครัฐฯ เข้ามาช่วยเหลือ
แน่นอนว่าผู้ที่ทำธุรกิจค้าปลีกย่อมรู้ซึ้งถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมออกไปเดินห้างสรรพสินค้าน้อยลงเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมากในที่สาธารณะ
ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าธุรกิจค้าปลีกถือว่าเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย โดยมีผู้ประกอบการมากถึง 1.3 ล้านราย มีการจ้างงาน 6.2 ล้านคน แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลเสียหายต่อธุรกิจในวงกว้าง ดูได้จากดัชนีค้าปลีกในปี 2563 ที่พบว่าติดลบ 12% คิดเป็นมูลค่า 5 แสนล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้นในไตรมาส 1/2564 คาดการณ์ว่าดัชนีค้าปลีกยังคงติดลบ 7-8%
นอกจากนี้ สมาคมผู้ค้าปลีก ได้เสนอ 5 มาตรการเยียวยาธุรกิจค้าปลีกให้กับรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ร้านค้าปลีกให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่ต้องปิดตัวลง
1.เพิ่มการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง
ให้ภาครัฐเพิ่มทางเลือกการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสอดรับกับบริการเร่งด่วนในแต่ละวัน เป็นการลดอัตราการว่างงาน โดยสมาคมค้าปลีกคาดการณ์ว่าหากดำเนินมาตรการนี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานทันทีกว่า 52,000 อัตรา และจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 อัตราในระยาว
2.ปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก
สนับสนุนให้ภาครัฐปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งจะเข้าถึงเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 400,000 ราย เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยตรง อีกทั้ง แพลตฟอร์มค้าปลีกจะช่วยให้ธนาคารได้รับการชำระหนี้อย่างตรงเวลา และครบถ้วน
3.เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ
อีคอมเมิร์ซถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งก็พบว่ายังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจนในเรื่องการเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงทำให้ SMEs ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะ SMEs ถูกเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวนตั้งแต่บาทแรก ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมในโลกของการแข่งขัน
4.กระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ
ภาครัฐควรกระตุ้นผู้บริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลาง-สูง ที่มีอยู่กว่า 8 ล้านราย เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการออกมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ เนื่องด้วยสถานการณ์ตอนนี้ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ และกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมีความคุ้นชินกับการเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงซื้อสินค้าแบบปลอดภาษี
สมาคมค้าปลีกเสนอให้ปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวตามประเภทสินค้าแบบขั้นบันได เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 20%, 15% และ 10% เพื่อให้มีส่วนต่างของอัตราภาษีและไม่เกิดผลกระทบกับแบรนด์ไทย ซึ่งจะสามารถสร้างเงินสะพัดได้กว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส
5. ให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ
ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ มักซื้อสินค้าประจำอยู่ไม่กี่ชนิด เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่นๆ ดังนั้น การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ จะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บัตรการกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs