ผลกระทบการค้า การลงทุน หลายธุรกิจต้องหยุดชะงักหลังรัฐประหารในเมียนมา


กระแสการรัฐประหารในเมียนมากลายเป็นที่จับตามองของทั่วโลก เมื่อกองทัพได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ทีผ่านมา พร้อมควบคุมตัวนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐฯ และแกนนำพรรค MLD รวมถึง อู วิน มิน ประธานาธิบดี และบุคคลสำคัญของรัฐบาล

การเข้ายึดอำนาจในครั้งนี้กองทัพเมียนมาให้เหตุผลพบการทุจริตในการเลือกตั้ง พร้อมทั้งปฏิบัติการยึดอำนาจ โดยประกาศให้ประเทศเมียนมาอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินเป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนจะมีการจัดเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

นอกเหนือจากเรื่องการเมืองที่ต้องจับตามองแล้ว ในด้านเศรฐกิจการลงทุนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะในเมียนมามีนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในหลายอุตสาหกรรม หลังรัฐบาลเมียนมามีการเปิดประเทศ แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ตลอดจนความสัมพันธ์ทางการค้าที่เมียนมาอาจจะต้องได้รับทั้งในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีประเด็นอะไรบ้างนั้น มาดูกัน

การค้าชายแดนไทย-เมียนมา จะเดินไปในทิศทางไหน

แม้ว่าจะเกิดการรัฐประหารเกิดขึ้น แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยต่างมองว่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ไม่ได้รับกระทบอะไรมากนัก โดยนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สถานการณ์การค้าไทย-เมียนมา พบไม่ได้รับผลกระทบ การขนส่งสินค้าข้ามชายแดนได้มีการเปิดการค้าขายเป็นปกติแล้ว หลังจากที่เมียนมาได้ประกาศปิดด่านชายแดนเป็นการชั่วคราว รวมทั้งระบบสื่อสารทั้งทางมือถือ และอินเทอร์เน็ตขณะนี้สามารถกลับมาใช้งานได้ปกติ

ส่วนสถานการณ์การบริโภคสินค้า ประชาชนชาวเมียนมาได้มีการกักตุนสินค้า มีการต่อแถวซื้อสินค้าในตลาด และร้านค้าเป็นคิวยาว โดยเฉพาะอาหาร เนื้อสัตว์ และน้ำดื่ม แต่จากการสำรวจขณะนี้ยังคงมีสินค้าเข้ามาเติมในชั้นสินค้าและในตลาดได้เพียงพอ ขณะที่ด้านการส่งออก คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังเมียนมา จะยังคงทำได้ดี หลังสถานการณ์ดีขึ้น และส่งผลให้ยอดการส่งออกไม่ได้รับผลกระทบในระยะยาว

เช่นเดียวกับนางวรรธนา มงคลศรี รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) ที่กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังไม่พบลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารจะมีการจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

สหรัฐฯ เตรียมคว่ำบาตร

ชาติมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารในเมียนมา พร้อมพิจารณาคว่ำบาตร

นักวิเคราะห์มองว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จะไม่ได้รับผลกระทบกับเมียนมามากเท่าไหร่นัก เพราะการลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากประเทศในเอเชียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์, ฮ่องกง, จีน ซึ่งควรให้คำชี้แจงกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดย Fitch Solutions บริษัทข้อมูลด้านการเงิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การรัฐประหารในเมียนมาทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่น่าสบายใจ เช่น จีน ที่รู้สึกถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้ว่าจะมีเส้นทางการลงทุน Belt and Road ก็ตาม

เช่นเดียวกับ Yoma Strategic Holdings จากสิงคโปร์ที่โฟกัสการทำธุรกิจในเมียนมาออกคำสั่งหยุดชะงักการดำเนินงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยก่อนหน้านี้บริษัทมีความสนใจอยากเข้าไปลงทุนอสังหาริมทรัพย์, อาหารและเครื่องดื่ม, ยานยนต์, บริการทางการเงินในเมียนมา รวมถึง Woodside Energy บริษัทขุดเจาะน้ำมันจากออสเตรเลียที่ดำเนินธุรกิจในเมียนมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน พร้อมพูดคุยกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เพื่อทำความเข้าใจถึงแผนงานที่วางเอาไว้ในปี 2021 เพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

แน่นอนว่าจะมีหลายบริษัทที่ลงทุนในเมียนมาออกมาระงับแผนการดำเนินงานอยู่เรื่อย ๆ เพื่อรอดูความชัดเจนก่อนว่าจะเดินไปในทิศทางไหน

โบรกเกอร์แนะชะลอการลงทุน

ตลาดหุ้นเกิดการผันผวนอยู่ไม่ใช่น้อย โดยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่าการรัฐประหารในเมียนมาจะเป็นปัจจัยเชิงลบระยะสั้นต่อราคาหุ้น หรือบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดที่มีสัดส่วนรายได้ หรือฐานการผลิตอยู่ในเมียนมา คิดเป็น 1-12% ซึ่งประเด็นนี้ต้องติดตามกันต่อไป

ด้านบริษัท หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัย โดยธุรกิจในเมียนมายังคงดำเนินต่อไปได้อยู่ แต่อาจส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยากับบริษัทในเมียนมาบ้าง

เศรษฐกิจเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์

การรัฐประหารอาจซ้ำเติมเศรษฐกิจเมียนมาให้ถดถอยเข้าไปอีก หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ตามมา โดยธนาคารโลก (Worldbank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะขยายตัว 0.5% ในปีงบประมาณ 2562/2563 และอาจหดตัวถึง 2.5% หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้

โดยธนาคารโลกยังแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ในเมียนมาที่อาจนำมาสู่ภาวะถดถอย ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง