โควิด-19 ฉุดใช้จ่าย “มาฆบูชา” ปี 64 ติดลบ 9.38% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาด มาฆบูชาปี 2564 เงินสะพัด 2,360 ล้านบาท ติดลบ 9.38% แม้เป็นวันหยุดยาว ชี้ ต่ำสุดในรอบ 6 ปี สาเหตุเพราะกังวลโควิด-19 รายได้ลด และภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยภายหลังการประเมินทัศนคติ พฤติกรรม และการใช้จ่ายช่วงวันมาฆบูชา ระบุว่า จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,215 ตัวอย่าง สำรวจตั้งแต่วันที่ 10-16 กุมภาพันธ์ 2564

พบว่า ในปีนี้กลุ่มตัวอย่างจะเดินทางไปทำบุญไหว้พระในวันมาฆบูชา 40% ไม่ไป 37.3% และไม่แน่ใจ 22.7% ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ไม่ไป ส่วนใหญ่มาจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 รายได้ลดลง และภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า สำหรับมูลค่าเงินสะพัดวันมาฆบูชาในปี 2564 นี้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 2,360 ล้านบาท หรือลดลงติดลบ 9.38% ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินสะพัดประมาณ 2,601 ล้านบาท ถือว่ามีเงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 6 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากการใช้จ่ายยังติดลบทุกรายการ อาทิ การทำบุญ และการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งโดยรวมประชาชนมีการใช้จ่ายประมาณ 1,311 บาทต่อคน เท่านั้น

“แม้ในวันมาฆบูชาในครั้งนี้ จะได้หยุดยาว 3 วันแต่ประชาชนยังมีความกังวลกับโควิด-19 อยู่ ส่งผลให้เงินสะพัดอาจไม่มากเท่าที่ควร แต่เศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวและเติบโตดีกว่าช่วงเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เพราะในครั้งนี้ยังมีประชาชนที่ออกมาใช้จ่าย อาทิ ซื้อสังฆภัณฑ์ ทำบุญ เวียนเทียน และทำทาน กันมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในวันมาฆบูชาไม่ได้สาหัสมาก” นายธนวรรธน์กล่าว