ส่งออกข้าวไทย 64 คาดประคองตัว 5.8-6.0 ล้านตัน “หอมมะลิ” ชูโรง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดส่งออกข้าวไทยปี 2564 ประคองตัวที่ 5.8-6.0 ล้านตัน “ข้าวหอมมะลิ” ยังเป็นตัวชูโรง ย้ำเลิกสนใจปริมาณ จากนี้ต้องเน้นคุณภาพเท่านั้น

จากสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในปี 2563 ที่มีการสรุปตัวเลขอยู่ที่ 5.7 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 24.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ภาครัฐตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน และยังนับเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยไทยหล่นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 3 ของโลก รองจากอินเดียที่ 14.6 ล้านตัน และเวียดนามที่ 6.2 ล้านตัน

แค่หอมมะลิ ที่รอด!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มองในประเด็นดังกล่าว ระบุว่า ปัญหาหลักของข้าวไทยคือ พันธุ์ข้าวไทยที่ไม่หลากหลาย และเริ่มไม่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลก รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่า ภัยแล้ง ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ล้วนเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ยอดการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 ดำดิ่งเป็นอย่างมาก

หากพิจารณาในรายละเอียดประเภทข้าวที่ส่งออกของไทย จะพบว่า ข้าวหอมมะลิเป็นเพียงข้าวประเภทเดียวในปี 2563 ที่มีการส่งออกเป็นบวกที่ร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวประเภทอื่นมีการส่งออกที่เป็นลบอย่างข้าวขาว -32.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และข้าวนึ่ง -35.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงศักยภาพของข้าวหอมมะลิที่แม้จะเผชิญปัจจัยลบรุมเร้า แต่ก็ยังประคองตัวอยู่ในแดนบวกได้

ส่วนแนวโน้มข้าวไทยปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพการส่งออกข้าวของไทยน่าจะประคองตัวต่อไปได้ที่ราว 5.8-6.0 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3-4.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของความต้องการข้าวทั้งหมดในตลาดโลกที่ร้อยละ 1.7

หอมมะลิยังเป็นความหวัง

โดยมีตัวผลักดันจากข้าวหอมมะลิที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีการเติบโตได้เป็นอย่างดีอยู่ที่ 0.54-0.56 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7-14.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จนผลักดันให้การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปตลาดโลกอยู่ที่ 1.3-1.35 ล้านตัน หรือเติบโตได้ถึงร้อยละ 9.3-13.5

ขณะที่ตลาดข้าวประเภทอื่น (ข้าวขาว ข้าวนึ่ง) คาดว่าอาจทำได้เพียงมีการเติบโตเท่ากับความต้องการข้าวทั้งหมดในตลาดโลกเท่านั้น ไทยจึงอาจจะยังไม่สามารถแข่งขันในตลาดข้าวประเภทอื่นได้

ดังนั้น ข้าวหอมมะลิจึงน่าจะเป็นตลาดที่ไทยทำได้ดีที่สุด หรือมีความสามารถในการแข่งขันส่งออกมากที่สุด และเป็นตลาดพรีเมียมที่ไม่ได้แข่งขันด้านราคา สุดท้าย จะทำให้ไทยยังคงประคองตัวเลขการส่งออกข้าวไว้ได้มากกว่าปีก่อน และรักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวในโลกไว้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ราวร้อยละ 12.8

เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังมองว่า จากนี้ไปไทยไม่น่าจะกลับไปเป็นแชมป์การส่งออกข้าวโลกได้อีกแล้วดังเช่นอดีตที่ไทยเคยส่งออกข้าวเฉลี่ยได้สูงถึงราว 9 ล้านตันต่อปี เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น รวมถึงราคาข้าวไทยที่ยังสูงกว่าคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ

ดังนั้น ไทยควรมุ่งไปที่การผลิตข้าวที่เน้นการแข่งขันในเชิงมูลค่ามากกว่าเชิงปริมาณ (ที่เน้นไปแค่เพียงการจัดอันดับของผู้ส่งออกข้าวในโลกเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงด้านคุณภาพข้าว)

ทำให้ความหวังของการส่งออกข้าวไทยในระยะข้างหน้าคงอยู่ที่การให้ความสำคัญกับตัวชูโรงอย่างข้าวหอมมะลิที่ควรเร่งเพิ่มการผลิตเพื่อใช้ในการส่งออกและบริโภคในประเทศ ขณะที่ในด้านราคาก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าข้าวประเภทอื่น จึงนับว่าข้าวหอมมะลิน่าจะมีโอกาส และศักยภาพมากที่สุดในพันธุ์ข้าวที่ไทยมี ณ ขณะนี้

ผลผลิตมากขึ้น แต่ยังมีปัจจัยลบ

ทั้งนี้ แม้การส่งออกข้าวของไทยในปี 2564 จะยังประคองตัวได้ ด้วยแรงหนุนจากปัจจัยบวกคือ ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นจากการเข้าสู่วงรอบของลานีญา ทำให้มีปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น แต่คงต้องยอมรับว่า การส่งออกข้าวไทยจะยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบที่ยังมีอยู่ต่อเนื่องจากปีก่อน แม้ปัจจัยลบดังกล่าวจะให้ภาพที่ดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ทำให้การส่งออกข้าวไทยยังเติบโตได้ในกรอบที่จำกัด