“สภาหอการค้า” ประเมินทางออกประเทศไทย แนะ 4 แนวทาง บริหารจัดการวัคซีน-19 เตรียมรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจพร้อมแค่ไหน? เปิดประเทศตุลาคมนี้
จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับการเข้ามาของวัคซีนโควิด-19 ที่ล่าสุดเริ่มกระจายฉีดให้กับประชาชนตามแผน รัฐบาลจึงเดินหน้าเพื่อฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อรองรับการเปิดประเทศซึ่งคาดว่าจะพร้อมในช่วงไตรมาส 3 (ตุลาคม) ของปีนี้
“วัคซีนโควิด-19” ถือเป็นความหวังสำคัญในการผ่านพ้นวิกฤติ ที่ขณะนี้แจกจ่ายไปแล้วกว่า 110,000 โดส ใน 13 จังหวัด และมีผู้ได้ฉีดการไม่ต่ำกว่า 50,00 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค.64) ซึ่งทางรัฐบาลกำลังเร่งกระจายให้ครอบคลุมมากที่สุด
สำหรับประเด็นดังกล่าว มีความเห็นจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด และยังมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่ประเทศไทยต้องเผชิญในปี 2564 นี้
นายกลินท์ระบุว่า หลายประเทศทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนกันไปมากพอสมควร ซึ่งถือเป็นผลดีกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนการเปิดประเทศที่ชัดเจน เพื่อรองรับการกลับมาของเศรษฐกิจ จึงฝากการบ้านไปถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะฟื้นประเทศไทยเตรียมพร้อมรับการฟื้นตัวดังกล่าวได้ทันหรือไม่
ความสำคัญเร่งด่วนในขณะนี้ คือ แผนบริหารจัดการวัคซีนที่ชัดเจน โดยหอการค้าไทยเสนอ 4 แนวทางสำหรับเรื่องดังกล่าว ได้แก่
1.การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง
โดยในภาคธุรกิจนั้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงในธุรกิจบริการ ที่ต้องมีการติดต่อทั้งกับคนไทยและคนต่างชาติ ควรได้รับการฉีดเป็นลำดับต้นๆ
2.รัฐต้องมีแผนกระจายวัคซีนที่ชัดเจน
เพื่อให้เอกชนบริหารจัดการธุรกิจ ให้สอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.เร่งฉีดอย่างรวดเร็ว
เอกชนต้องร่วมทำแผนการกระจายวัคซีน เพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว และบริษัทที่มีกำลัง ก็ยินดีจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงานเอง ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดหาและกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชน และสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้แก่พนักงานของตนเอง
โดยสถานพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนนั้น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งขณะนี้รวมได้ประมาณ 750,000 คน และคาดว่าทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งเราจะนำปริมาณความต้องการนี้ ไปหารือกับภาครัฐในการจัดหาวัคซีน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศปลอดภัยต่อไป
4.การสื่อสารสร้างความมั่นใจ
ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสื่อสารชี้แจงถึงความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การทำงานร่วมกับภาครัฐถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งหอการค้าไทยได้เข้าไปร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อผลักดันแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เรื่อง Vaccine Passport สำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย การวางแผนรองรับการเปิดประเทศ เรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) เรื่องการท่องเที่ยวคุณภาพสูง รวมไปถึงการประยุกต์ใช้ Happy Model หรือ โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข (กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี แบ่งปันสิ่งดี ๆ)
ซึ่งได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว สิ่งเหล่านี้จะมีการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด นอกจากนั้น ยังมีเรื่องเกษตรมูลค่าสูงที่จะต้องดําเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและเกษตรมูลค่าสูงจะเป็นจุดแข็งของประเทศที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป โดยหอการค้าไทยก็มีแนวทางในการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEและเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง