คนไทยกังวลโควิด ฉุดใช้จ่าย “สงกรานต์” ต่ำสุดในรอบ 9 ปี


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ เผย สงกรานต์ปีนี้ไม่คึกคัก! เงินสะพัดแค่ 1.13 แสนล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปี ชี้ ท่องเที่ยวช่วงสั้นๆ คนไทยระมัดระวังการใช้จ่าย

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 จาก 1,256 ตัวอย่าง

โดยระบุว่า การใช้จ่ายเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ยังไม่คึกคักมากนัก มีเงินสะพัด 1.13 แสนล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปี แม้เทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น 63 % เนื่องจากปีก่อน เป็นปีที่ไทยงดจัดกิจกรรมสงกรานต์ทั้งหมดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ถ้าเทียบกับปี 2562 ที่มีสถานการณ์ปกติ การใช้จ่ายติดลบ 16.9%

ทั้งนี้ พฤติกรรมคนไทยมีการใช้จ่ายลดลงเนื่องจากต้องการประหยัด ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยวจะเป็นระยะสั้น 3-5 วัน ซึ่งพบข้อสังเกตว่า เริ่มมีบรรยากาศการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะไปเที่ยวทางภาคใต้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ทั้ง โครงการเราชนะ ท่องเที่ยวคนละครึ่ง ขณะที่ภาพรวมคนยังนิยมเดินทางรถยนต์ยังเป็นตัวหลัก

“สงกรานต์ปีนี้บรรยากาศไม่คึกคักมาก แต่ไม่ถึงกับซบเซา มีการท่องเที่ยวบ้างแต่คนไทยระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่ โดยประเมินว่าเงินใช้จ่ายมาจาก เงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคิดเป็นสัดส่วน 5% “

ผศ.ดร. ธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาพรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวมากนัก ซึ่งเดิมเคยคาดการณ์ว่าช่วงสงกรานต์จะมีเงินสะพัด 1.4 แสนล้านบาท แต่ตัวเลขที่สำรวจได้แค่ 1.1 แสนล้านบาท เงินหายไป 2-3 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากความกังวลต่อสถานการณ์โควิดทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจำเป็นต้องประหยัดไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสัญญาณเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจากปัญหาโควิด ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องทั้งคนละครึ่งเฟส 3 การสนับสนุนการท่องเที่ยวมากขึ้น และการดูแลภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ต่อไปอีก 2 ปี