อานิสงส์โควิด! ดัน “ยางไทย” ราคาพุ่ง เหตุทั่วโลกต้องการใช้ “ถุงมือยาง”


การยางแห่งประเทศไทย เผยวิกฤตโควิด-19 เป็นอานิสงส์ หนุนความต้องการใช้น้ำยางข้น ใช้ผลิตถุงมือยาง เพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 1-2 แสนตัน เป็น 3-4 แสนตัน ช่วยชาวสวนยาง ขายยางพาราได้ราคาดีขึ้น

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าฯ กยท. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราของไทย โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่าง ถุงมือยาง ทำให้โรงงานผลิตถุงมือในไทยมีความต้องการน้ำยางข้นเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 แสนตัน จากเดิมที่ใช้อยู่ประมาณ 1-2 แสนตัน

สำหรับความต้องการถุงมือยาง ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทั่วโลก ในปี 63 อยู่ 3.3 แสนล้านชิ้น ขณะที่ในปี 64 มีความต้องการใช้มากถึง 4.2 ล้านชิ้น ซึ่งทำให้โรงงานผลิตถุงมือยางรายใหญ่ จำเป็นต้องขยายกำลังการผลิต

โดยศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตถุงมือยางที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ได้ตั้งเป้าหมายการผลิต จาก 27,153 ล้านชิ้น/ปี เป็น 70,000 ล้านชิ้นต่อปีในปี 2571 และ 1 แสนล้านชิ้น/ปีภายในปี 2575

ข้อมูลการส่งออกถุงมือยางของไทย ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 72,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 95% และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากมาเลเซีย มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 18% หรือ 47,000 ล้านชิ้น (มาเลเซีย 63%)

จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ความต้องการใช้น้ำยางข้นในประเทศเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ” โดยในปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตน้ำยางข้นทั้งประเทศประมาณ 1 ล้านตัน โดยส่วนหนึ่งมีการส่งออกไปยังมาเลเซียและจีน ที่เหลือจะมีการใช้ในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงประมาณ 1 แสนกว่าตันเท่านั้น แต่ในปีนี้คาดว่าจะใช้ถึง 3-4 แสนตัน

สอดคล้องกับข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่า น้ำยางข้น จะเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มาแรง โดยในช่วงปี 2563-2570 คาดว่า มูลค่าตลาดถุงมือยางของโลกจะยังขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12.6 ต่อปี แสดงถึงความต้องการน้ำยางข้นที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย