วิกฤตขาดแคลนน้ำมันปาล์มของอินโดฯ กระทบต่อราคาสินค้าจาก “ชีส” ไปถึง “ลูกกวาด”ที่อาจปรับสูงขึ้น


อินโดนีเซีย ผู้ส่งออกปาล์มน้ำมันรายใหญ่ของโลกกำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารภายในประเทศ จนต้องประกาศหยุดการส่งออกเป็นการชั่วคราวเพื่อสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเริ่มไปเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอินโดนีเซียมีอุปทานน้ำมันปาล์มประมาณครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นน้ำมันพืชที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งในเรื่องของการทำอาหาร และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคนับพันรายการ รวมทั้ง ขนมปังกรอบ, ผงซักฟอก และลิปสติก

ตามรายงานของ Channel NewsAsia ระบุว่าปัจจัยที่ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันปรุงอาหารปรับสูงขึ้นในอินโดนีเซีย เพราะว่าผู้ผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มการส่งออกจากราคาน้ำมันพืชที่สูงขึ้น ส่งผลให้อุปทานภายในอินโดนีเซียเกิดวิกฤต โดย Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวว่าในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก เรากำลังประสบปัญหา ตนในฐานะประธานาธิบดีไม่สามารถปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ ตามรายงานของ Reuters ระบุว่าราคาขายปลีกน้ำมันปรุงอาหารในอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นกว่า 40% ในปีนี้ โดยการพุ่งขึ้นของราคาทำให้เกิดการประท้วง และส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

โดยมีการคาดการณ์ว่า การระงับการส่งออกปาล์มน้ำมันของอินโดนีเซียจะดำเนินไปจนกว่าน้ำมันประกอบอาหารในอินโดนีเซียจะลดลงเหลือ 14,000 รูเปียห์ต่อลิตร ซึ่งตอนนี้น้ำมันปรุงอาหารจำนวนมากในอินโดนีเซียมีราคาอยู่ที่ 19,000-20,000 รูเปียห์

“เมื่อความต้องการของท้องถิ่นเริ่มเห็นผลแล้ว แน่นอนว่าผมจะเพิกถอนการส่งออก เพราะว่ารัฐบาลต้องการภาษี, รายได้จากต่างประเทศ และต้องการเกินดุลการค้า อีกทั้งความต้องการของประชาชนมีความสำคัญกว่า” Widodo กล่าว

ด้าน Julie Gerdeman ซีอีโอของ Everstream บริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน กล่าวว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์บรรจุห่อที่ชาวอเมริกันบริโภคมีน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะเห็นผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น มาการีน, ลูกกวาด, น้ำมันปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์นม ไม่ว่าจะเป็น ครีม, ชีส, นมข้น

“หากยังห้ามการส่งออกอยู่ เราคาดการณ์ว่าจะเห็นผลผลิตลดน้อยลง และราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการจัดหาน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย

ที่มา: businessinsider