“ต้นไม้มีค่า” ใช้ค้ำประกันเงินกู้ได้จริง ล่าสุดยอดปล่อยสินเชื่อพุ่ง 137 ล้านบาท


ช่วงเวลาที่ผ่านมา เราคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการใช้ไม้มีค่าขอคำประกันเงินกู้ ซึ่งสามารถทำได้จริง มีการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารพุ่งสูง 137 ล้านบาท

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายปลูก “ไม้มีค่า” เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และใช้เป็นหลักประกันกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน

ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่ามีการเดินหน้าให้ความรู้กับผู้นำ และผู้บริหารกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับไม้ยืนต้นที่มีค่า เช่น สัก พะยูง มะค่า ตะเคียนทอง กฤษณา เหลืองปรีดี กัลปพฤกษ์ นางพญาเสือโคร่ง และจำปีสิรินธร ให้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยขณะนี้มีเกษตรกร และประชาชนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สอดคล้องกับ สถิติการจดทะเบียนการนำต้นไม้มาเป็นหลักประกัน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565) พบว่า มีการใช้ “ไม้มีค่า” มาเป็นหลักประกันทั้งสิ้น 1.46 แสนต้น เป็นจำนวนเงินค้ำประกันกว่า 137 ล้านบาท แบ่งตามธนาคาร ได้แก่

– ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 318 ต้น คิดเป็นเงินค้ำประกันกว่า 3 ล้านบาท

– ธนาคารกรุงไทย จำนวน 23,000 ต้น คิดเป็นเงินค้ำประกัน 128 ล้านบาท

– พิโกไฟแนนซ์ จำนวน 1.2 แสนต้น คิดเป็นเงินค้ำประกัน 6 ล้านบาท

รวมต้นไม้ที่นำมาเป็นหลักประกัน เช่น สัก มะขาม มะเกลือ ยอป่า มะม่วง ไม้แดง ยาง ประดู่ป่า ประดู่บ้า มะหาด พะยอม เต็ง ตะแบกนา มะขามเทศ ตะกู พฤกษ์ ทุเรียน และขนุน

ทั้งนี้ การใช้ “ไม้มีค่า” มาค้ำประกันสร้างประโยชน์ในหลายเรื่อง ทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ, ผู้ปลูกใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอเงินกู้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน