2 กูรูแนะเอสเอ็มอีไทยเจาะตลาดจีน


ปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมหาศาล มีผู้บริโภคและมีประชากรวัยหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก ขณะที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุก็มีมากถึง 12% และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเช่นกัน ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นนิยมสินค้าของแท้ คุณภาพดีจากต่างประเทศ ทำให้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยรุกตลาดจีนได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันตลาดจีนถือเป็นตลาดที่มีความเฉพาะตัว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาแบบรอบด้าน การทำงานแบบ “ทีม” หรือการมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในยุคปัจจุบัน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับสองบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทยที่มีความเชี่ยวชาญตลาดจีน ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัว “โครงการส่งเสริมสินค้าไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน ไท่ เล่อ โก้ว (Tai Le Gou)” เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีช่องทางขยายการส่งออกสินค้าไปตลาดจีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะ 6 เมืองใหญ่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง มีกำลังซื้อสูง และมีความต้องการสินค้านำเข้าที่มีคุณภาพ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เฉิงตู เสิ่นเจิ้น ซานโถว และกวางโจว พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “โอกาสสินค้าไทยในตลาดจีน” โดยได้ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการขยายตลาดสินค้าในจีนมาให้คำแนะนำผู้ประกอบการ

นายสมชาย จึงสมบูรณานนท์ รองประธานอาวุโส บริษัท ซีพี ฟู้ด เซี่ยงไฮ้ จำกัด เล่าว่า จีนเป็นประเทศที่มีตลาดใหญ่มาก แบ่งประชากรเป็นผู้ชาย 51% ผู้หญิง 49% แต่ผู้หญิงเป็นคนถือเงินก็ต้องหาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้ผู้หญิงอยากซื้อสินค้า ผู้บริโภคจีนในวัยหนุ่มสาวสมัยนี้นิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุตตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเป็นผู้มีกำลังซื้อสูงยังนิยมออกไปเดินช้อปปิ้งนอกบ้านอยู่ ส่วนสินค้าที่ได้รับความนิยม อาทิ ข้าวหอมมะลิไทย หมอนยางพารา ขนม      ขบเคี้ยว น้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ และผลไม้สดแปรรูปต่างๆ

“ตลาดจีนเป็นตลาดที่มีความพิเศษตั้งแต่เรื่องความสัมพันธ์ที่คนจีนยังถือเป็นเรื่องสำคัญมากทำให้การบุกตลาดจีนนั้นต้องใช้ผู้ประกอบการจีนเป็นผู้นำทาง ฤดูกาลก็ส่งผลต่อการเลือกซื้อสินค้าเช่นกันเพราะเมืองจีนมีถึง 4 ฤดู การเลือกซื้อสินค้าและอาหารก็เปลี่ยนไปตามฤดูกาล อาทิ กล่องพลาสติกที่ขายดีในฤดูหนาวเพราะชาวจีนจะใช้เก็บเสื้อผ้า หรือถั่วเขียวที่ขายดีในฤดูหนาวเช่นกันเนื่องจากนิยมนำไปต้มทานน้ำเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น จะส่งไปขายในฤดูอื่นก็ไม่สามารถขายได้เพราะไม่ตอบสนองความต้องการ ภูมิภาคหรือพื้นที่ ย่อมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมผู้บริโภค บางพื้นที่ทานเผ็ด บางพื้นที่ไม่ทาน ภาคเหนือทานขนมปัง แป้ง หมั่วโถว เกี๊ยว ภาคใต้ไม่ทานเค็มเพราะอยู่ติดทะเล ได้รับประทานอาหารทะเลจำนวนมากอยู่แล้ว สินค้าที่ขายดีในเซี่ยงไฮ้อาจจะไม่ได้ขายดีในจังหวัดอื่น เป็นต้น ส่วนเทศกาลก็เป็นอีกปัจจัยของการตัดสินใจซื้อ เพราะคนจีนนิยมให้ของขวัญ หากสินค้าใดที่เปิดตัวในช่วงเทศกาลสำคัญ การทำบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะต่อการให้เป็นของขวัญก็จะเป็นอีกจุดเด่นที่ทำให้สินค้าขายได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าจะนำสินค้าอะไรไปจำหน่ายที่พื้นที่ใด ฤดูกาลใด ช่วงเวลาใด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ประสบการณ์และปรึกษาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ที่ผ่านมามีสินค้าไทยส่งไปขายในจีนหลายราย บางรายเข้าไปเร็วเกินไป ไม่มีการวางแผนก็ไม่สำเร็จ หรือบางรายเดินทางไปจีนแค่ปีละ 3-4 ครั้ง แต่ไปคนละช่วงเวลาก็ไม่สามารถวิเคราะห์ตลาดจีนในเชิงลึกได้”

สำหรับอุปสรรคของสินค้าที่ไปจัดจำหน่ายในจีนนั้น เมื่อสินค้าใดๆ ก็ตามที่ขายดี ย่อมหลีกหนีไม่พ้นการถูกลอกเลียนแบบซึ่งประเด็นนี้ผู้ประกอบการต้องพร้อมที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ท้อถอยเมื่อถูกลอกเลียนแบบ แต่คนจีนที่มีกำลังซื้อเองก็รู้ดีว่าสินค้าลอกเลียนแบบนั้นคุณภาพจะด้อยลง ดังนั้นสินค้าที่ไปบุกตลาดจีนภายใต้โครงการ ไท่ เล่อ โก้ว นั้น จะต้องทำให้ผู้บริโภคชาวจีนทราบว่าเป็นสินค้าไทยที่ดี มีคุณภาพ เชื่อถือได้ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ หรือเรื่องกฎระเบียนของการนำเข้าสินค้าของจีนนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แม้จะเคยได้รับการอนุญาตให้นำเข้าไปได้ด้วยรูปแบบนี้ แต่วันนี้ถูกปฏิเสธได้ ฉลากอาจจะถูกเปลี่ยน แพคเกจต้องปรับใหม่ ภาพที่ปรากฎหน้าซองไม่เหมือนสิ่งที่อยู่ด้านในแม้จะเป็นสิ่งที่ปรุงรสก็ตาม ผู้ประกอบการต้องอดทนและหนักแน่น

นายณัฐพล เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ช่องทางการซื้อสินค้าในจีนนอกเหนือจากออนไลน์แล้ว จะแบ่งเป็น 3 แห่งใหญ่ๆ คือ โมเดิร์นเทรด (Modern Trade) ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าสะดวกซื้อ โดยเฉพาะ ร้านอีซี่จอย (Easy Joy) ในสถานีบริการน้ำมันของไซโนเพ็ก (Sinopec) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งยังมีผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้ออยู่เพราะรวดเร็ว ไม่ต้องต่อคิว ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องทราบด้วยว่าปัจจุบันนี้รูปแบบการซื้อสินค้าของผู้บริโภคจีนเปลี่ยนไปแล้ว ไม่นิยมใช้เงินสด ใช้เพียงสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถชำระเงินได้ทุกอย่างตั้งแต่สาธารณูปโภค จนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ดังนั้นสินค้าไทยเองก็ต้องมีรูปแบบที่พร้อมต่อการชำระเงินแบบนี้ด้วย บรรจุภัณฑ์หรือแพ็คเกจจิ้ง (Packaging) จะต้องพร้อมทั้งในเครื่องบาร์โค้ด คิวอาร์โค้ด ระบบหลังบ้านต้องดี พร้อมรองรับวิถีชีวิตของชาวจีน หรือแม้แต่เรื่องการทำภาษาจีนเองก็ตามก็เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อเข้าไปจัดจำหน่ายในช่วงแรกอาจจะยังไม่ต้องเปลี่ยนเพราะจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต แต่หลังจากสินค้าติดตลาดแล้ว เป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคแล้วก็ควรเปลี่ยนภาษาของแพ็คเกจให้เป็นภาษาจีนด้วย

สำหรับกระบวนการพิจารณาสินค้าเข้าสู่โครงการฯ จะเข้มข้นมากเพื่อคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพจริงๆ โดยเริ่มจากดูว่าเป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคชาวจีนหรือไม่ กระบวนการผลิตต้องทำได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพคงที่ สินค้าใดที่ยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์จะให้คำปรึกษา แนะนำ ว่าต้องปรับเรื่องใดบ้าง เพราะต้องการให้โครงการนี้เป็นของคนไทย ทำอย่างต่อเนื่องไปได้ตลอด เกิดจากความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายย่อย  เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

ด้านผู้ประกอบการที่เข้ารับฟังงานเสวนาในครั้งนี้อย่าง นายกัลป์  หอพรสิริ ผู้จัดการฝ่ายสร้างสรรค์และการตลาด บริษัท โซป วิลล่า จำกัด เล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า “บริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สกินแคร์ โดยผลิตภัณฑ์หลักคือสบู่ก้อนแฮนด์เมด ตลาดปัจจุบันคือส่งออกไปยังอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เคยส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในจีนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แล้วแต่ตอนนั้นยังไม่มีความรู้ ไม่ได้ศึกษาตลาดจีนในเชิงลึก และไม่ได้ไปเป็นทีม พบว่าค่อนข้างยาก แต่ก็ยังสนใจตลาดจีนอยู่เพราะเป็นตลาดใหญ่ของโลกที่มีการเติบโตสูง จึงอยากกลับเข้าไปอีกครั้ง การมีโครงการนี้ขึ้นมาทำให้เห็นช่องทางในการสร้างการรับรู้และน่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้เจาะตลาดจีนได้ ก็จะศึกษาในรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการต่อไป”

ส่วน นางสาวชลีทิพย์ ทิพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรซ ออฟฟิเชียล ไทยแลนด์ จำกัด ให้ความเห็นว่า “บริษัทผลิตเครื่องสำอางที่เน้นคุณภาพมีช่องทางจัดจำหน่ายหลายแห่งในเมืองไทย เริ่มส่งออกไปทางฝั่งอาหรับแล้ว เพราะชื่นชอบคุณภาพของสินค้าเครื่องสำอางจากไทย ตอนนี้อยากไปลองเปิดตลาดที่จีน โดยไม่เน้นเรื่องการทำราคาถูกเพื่อให้แข่งขันได้ แต่จะเน้นที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ แม้ว่าเครื่องสำอางจะต้องผ่านขั้นตอนมากกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปแต่ก็อยากจะลองดู โครงการนี้มีรายละเอียดที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น มีบริษัทที่ประสบความสำเร็จรายใหญ่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญนำเข้าไป เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการที่อยากเข้าไปจำหน่ายเองจะโดนเก็บค่าบริการจากตัวแทนเป็นจำนวนมาก บางครั้งก็มีตัวแทนมาชวนไปออกงานแสดงสินค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ การที่หน่วยงานภาครัฐดำเนินโครงการแบบนี้ขึ้นมาย่อมสร้างความมั่นใจและเชื่อถือได้อย่างแน่นอน”

โครงการไท่ เล่อ โก้ว (Tai Le Gou) เริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด จะร่วมกันคัดเลือกสินค้าที่มีศักยภาพในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป สินค้าสุขภาพและความงาม ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ ผลไม้แปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน วัตถุดิบปรุงอาหาร ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น มีแผนเปิดตัวในเมืองจีนครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้เดือนกันยายน และโรดโชว์ไปอีก 5 เมือง ในเดือนต่อๆ ไป โดยจะเป็นการรวบรวมสินค้าไทยที่มีคุณภาพไว้ด้วยกันทั้งหมด ไม่กระจัดกระจาย ทำให้ผู้บริโภคได้เห็นสินค้าไทยที่มีคุณภาพพร้อมกัน ซึ่งจะนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าสะดวกซื้อ อาทิ ซีพีโลตัส ร้านอีซี่จอย (Easy Joy) ในสถานีบริการน้ำมันของซีโนเพ็ก (Sinopec) และในอนาคตจะพัฒนาสู่แพลทฟอร์มออนไลน์เพื่อรองรับต่อพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบันให้ครบทุกช่องทาง

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมสินค้าไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน ไท่ เล่อ โก้ว (Tai Le Gou) สามารถสอบถามรายละเอียดหรือส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อให้พิจารณาในเบื้องต้นได้ที่ ฝ่าย Product & Marketing แผนก Inter trade ชั้น 12 Loxley Public Company Limited 102 ถนน ณ ระนอง แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม. 10110