เพราะเป้าหมายสูงสุดของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนต้องการ ทรัพย์สินมากมาย บางคนต้องการเกียรติยศเพื่อให้คนนับหน้าถือตา แต่สำหรับ บุคคลชลประทานในฉบับนี้ “ณรงค์ มัดทองหลาง” เป้าหมายของเขามีเพียง หนึ่งเดียว คือ การได้สืบสานงานโครงการพระราชดำริ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตราบที่ลมหายใจยังมี
นายณรงค์ มัดทองหลาง เล่าว่า เขาเกิด ในอำเภอห้วยแถลง ซึ่งเป็นพื้นที่แล้งที่สุด ของจังหวัดนครราชสีมา โดยเติบโตมา ในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง พ่อแม่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ในวัยเด็กของเขา จึงกล่าวได้ว่าสัมผัสกับเกษตรกรรม โดยสมบูรณ์
หลานย่าโม มาเป็นนายช่าง ชลประทาน
ในวัยศึกษาเล่าเรียน นายณรงค์เป็น เด็กที่รักเรียนเป็นหัวกะทิ ศึกษาจบจากระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เมืองย่าโม ระดับอนุปริญญาที่ โรงเรียนการชลประทาน รุ่น 46 และระดับ
ปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สาขาวิศวกรรมโยธา การศึกษาในระดับ อนุปริญญาที่โรงเรียนการชลประทาน เขาคว้าที่ 1 ของรุ่นมาครอง สร้างสถิติทำเกรดเฉลี่ย 4.00 ในตอนปี 1 ซึ่งเป็นปีที่ท้าทายที่สุดของการเรียน เพราะวิชาส่วนใหญ่ ของปี 1 ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ภายหลังจากจบการศึกษา นายณรงค์ ตัดสินใจเลือกโครงการส่งน้ำและบำรุง รักษาลำนางรอง เขื่อนลำนางรอง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสถานที่ทำงานแห่งแรก ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา มีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่พระบาท
สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชและการแปรรูป เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้พัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น หน้าที่หลักของเขาคือ งานส่งน้ำและบำรุงรักษาอาคารชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอแก่การเกษตรในพื้นที่ชลประทาน เป็นแหล่งผลิตมะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ส่งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป แปรรูป สร้างรายได้ต่อไป
พัฒนากลุ่มเกษตรกร สู่สถาบัน ผู้ใช้น้ำและฝ่ายดีเด่น
ต่อมา นายณรงค์ ย้ายมาโครงการ ชลประทานบุรีรัมย์ ตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย ส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 หน้าที่หลักๆ ยังคงเป็นการบริหารจัดการน้ำสำรวจ และออกแบบเบื้องต้น งานซ่อมแซม และปรับปรุงโครงการชลประทาน รวมทั้ง เสริมสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำและดูแลบำรุงรักษาอาคารชลประทาน ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องลงพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน เกิดความสามัคคีและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
นายณรงค์ เล่าว่า จากการลงพื้นที่ส่งเสริม พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก มีความเข้มแข็งมากๆ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นสถาบันผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นระดับประเทศในปี 2557 นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาดีเด่นระดับประเทศ ในปีเดียวกันอีกด้วย
ปัญหาสู่การศึกษาวิจัย พัฒนาเป็นหลักสูตรโมเดลสู่การขยายผล
กาลเวลาผ่านไปทำให้ นายณรงค์ มีภาระและหน้าที่ตามตำแหน่งที่สูงขึ้น ต้องมองภาพกว้างขึ้น ปัจจุบันเขามีบทบาท หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากเดิมที่จะเป็นการบริหารจัดการน้ำส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำเป้าประสงค์กว้างขึ้น ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ นอกจากเน้นการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ สูงสุด ยังมุ่งเน้นให้เกษตรกรบริหาร จัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยใช้องค์ความรู้ ตามแนวพระราชดำริ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญ การเป็น นายช่างชลประทานที่ศูนย์ศึกษาการ พัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากรู้เรื่องน้ำยังต้องมีความเข้าใจ มิติอื่นที่เกี่ยวข้องกับน้ำได้แก่ ดิน ป่าไม้ อาชีพต่าง ๆ ของเกษตรกร อำนวยการ ประสานงาน บูรณาการร่วมกัน 16 กรม 5 กระทรวง สนองงานพระราชดำริ ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต (Natural Living Museum) ให้บริการแบบ เบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (One Stop Service) ขยายผลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริสู่ประชาชน
นายณรงค์ นับเป็นผู้หนึ่งที่คลุกคลี และเข้าใจงานพระราชดำริไม่น้อยกว่าใคร เขาจึงมักได้รับหน้าที่ให้เป็นวิทยากร ฝึกอบรม ขยายผลองค์ความรู้ด้านชลประทาน และองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ ทั้งภายในและภายนอกศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่เสมอ โดยผลงานล่าสุด เขาได้มีส่วนร่วมจัดทำนิทรรศการแบบมีชีวิต โดยนำศาสตร์พระราชามาสอดแทรก ออกมาในรูปแบบที่แตกต่างจากนิทรรศการทั่วไป มีความเสมือนจริง สวยงามและทันสมัย ใส่คิวอาร์โค้ดไว้ให้สืบค้นข้อมูลต่อได้ง่าย ๆ จาก Smart Phone เช่น งานกษัตริย์นักพัฒนา รักษา สืบสาน ต่อยอด ณ พระราชวังดุสิต งานสีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ ครั้งที่ 12 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ งานประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 ณ ศูนย์ศึกษาการ พัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ งานเปิดอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี งานประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตร และป่าไม้ ครั้งที่ 39 ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ฯลฯ ที่ถ่ายทอดจากองค์ความรู้ ทางวิชาการผ่านประสบการณ์ ออกมาเป็น งานทุกชิ้นที่เขาภาคภูมิใจ
จากวันแรกที่เริ่มต้นทำงานมาจนถึง วันนี้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขายังคงยึดมั่น และชัดเจนในการทำงาน เพื่อขยายผลงาน โครงการพระราชดำริ ภายใต้ศาสตร์พระราชาให้แก่เกษตรกรได้นำไปเป็นหลักคิดและปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล นับเป็นอีกบุคคลชลประทานที่ควรยกย่อง
ท้ายนี้ นายณรงค์ ฝากว่า การทำงานไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องมีใจรัก มีความสุข สนุกกับงาน มองทุกอย่างเป็นความภูมิใจ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ใฝ่รู้ฝึกฝนทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน