วันนี้ (4 ธันวาคม 2561) นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แถลงข่าว 17th MEA Governor: The Next Gen ร่วมเดินหน้าพลังงานวิถีชีวิตเมืองมหานคร กับผู้ว่าการ กฟน. ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า กฟน. ในฐานะผู้ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับตัวให้รองรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กฟน. ได้จัดทำแผนวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง กำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ ค่านิยม ยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัดให้สามารถตอบสนองความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และนำมาสู่วิสัยทัศน์ใหม่ คือ “Energy for city life, Energize smart living.” หรือ “พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร” ซึ่งมีความหมายว่า กฟน. ยังคงเน้น Core Competency ในเรื่องการจ่ายไฟฟ้า และเสริมความทันสมัยเรื่อง Smart living เนื่องจากสังคมเมืองมีการขยายตัวมากขึ้น ต้องทำให้ระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนมีความพึงพอใจต่อการใช้บริการของ กฟน. รวมถึงเพิ่มการดำเนินธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแบตเตอรี่เก็บพลังงาน
สำหรับการขับเคลื่อนจากการกำหนดวิสัยทัศน์นำไปสู่ ภารกิจ (สร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะ เพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร) นั้น กฟน. จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน พัฒนาในด้านนวัตกรรม และระบบไฟฟ้าที่อัจฉริยะมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น รองรับสังคมที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีอำนาจในการบริหารจัดการการใช้พลังงานที่เหมาะสม โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนภารกิจของ กฟน. ให้มีความสอดรับกับสิ่งใหม่ในอนาคต
ในด้านแนวโน้มเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในอนาคต กฟน. ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากนโยบายภาครัฐและเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้า เช่น การเปิดเสรีในการติดตั้งระบบโซลาร์ เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ระบบเก็บสะสมพลังงาน ตลอดจนการพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดได้ส่งผลต่อโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ดังนั้น กฟน. จึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยปรับปรุงระบบจำหน่ายให้มีความทันสมัยสามารถรองรับการเข้ามาของพลังงานทดแทน พัฒนาการบริการให้ทันสมัยในรูปแบบ Digital Service ครบวงจร มุ่งเน้นบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล และดำเนินธุรกิจโดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรเพื่อการขยายธุรกิจจากโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน การดำเนินธุรกิจในเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ กฟน. ยังมีแนวนโยบายในการเพิ่มศักยภาพด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการจัดหาพลังงานไฟฟ้า ด้านการตลาดเพื่อการแข่งขัน ด้านการบริหารจัดการพลังงาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับงานบริการ งานบริหารจัดการระบบไฟฟ้า ตลอดจนการซื้อขายพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการสำคัญของ กฟน. ที่เคยเกิดขึ้นและยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ยังประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ มากมาย ทั้งในด้านการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ด้านการบริการประชาชน และด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ยกตัวอย่างเช่น โครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงการนำร่องแก้ไขปัญหาสายสื่อสารไม่เป็นระเบียบ ด้วยท่อ Microduct ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และพร้อมดำเนินการต่อในถนนเส้นทางอื่น ๆ ในส่วนงานบริการที่ กฟน. ประสบความสำเร็จ อย่างการได้รับการจัดอันดับ 6 ของโลก ในด้านความยากง่ายของการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ของธนาคารโลก (World Bank) ประจำปี 2562 ก็ยังคงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริการผ่าน MEA Smart Life Application ที่สะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นที่นิยมมียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม กฟน. ยังคงเดินหน้าต่อยอดจากโครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยการนำเสาไฟฟ้าที่ถูกรื้อถอนนำมาปักริมชายฝั่ง เพื่อป้องกันปัญหาการกัดเซาะในบริเวณชายฝั่งทะเลของเขตบางขุนเทียน และบริเวณชายฝั่งป้อมพระจุลจอมเกล้าอีกด้วย
สำหรับในปี 2562 กฟน. ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรับสิทธิบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในกรณีที่มียอดค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึง กันยายน 2562 นอกจากนี้ ยังมีโครงการ MEA Smart Street Light ระบบไฟฟ้าสาธารณะเพื่อชุมชนเมือง ที่ กฟน. สามารถตรวจสอบแก้ไขได้ทันทีหากมีโคมไฟที่ชำรุดเสียหาย โดยเริ่มต้นในพื้นที่ริมคลองแสนแสบ รวม 75 ชุมชน ตลอดจนการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินที่มีแผนงานลงนามในสัญญาก่อสร้างเพิ่มเติมอีกจำนวนกว่า 120 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กฟน. จะยังคงเดินหน้าและพัฒนาในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันให้ทุกๆ โครงการสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ กฟน. กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของ กฟน.