กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดงานสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟในจังหวัดน่านในวันที่ 24 – 25 มกราคม 2562 ชี้ช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และผลักดันอุตสาหกรรมกาแฟไทยรุกสู่ตลาดโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับสมาคมกาแฟไทย หอการค้าไทย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดน่าน และสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน เตรียมจัดสัมมนา และลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟตลอดห่วงโซ่การผลิต ในวันที่ 25 มกราคม 2562 ณ โรงแรมน้ำทองน่าน จังหวัดน่าน เพื่อให้ความรู้เรื่องเอฟทีเอ
การใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟไทย และนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกเพื่อต่อยอด ตลอดจนพัฒนาศักยภาพสินค้ากาแฟไทย ผ่านการแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย พัฒนาคุณภาพกาแฟไทยให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคไทยและต่างประเทศ เพื่อดันอุตสาหกรรมกาแฟไทยเจาะตลาดโลก
นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่และจัดสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่กรมเจรจาฯ จัดต่อเนื่องจากปี 2561 ที่ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด และสมาคมกาแฟไทย เป็นต้น ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟทั้งในภาคเหนือที่ จ. เชียงราย และภาคใต้ที่ จ. ชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟสำคัญของประเทศไทย ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเกษตรกร ผู้ปลูกกาแฟ ผู้คั่วกาแฟ ร้านกาแฟ ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก
เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปิดเสรี ทั้งการเพาะปลูก การผลิต การรักษาคุณภาพ มาตรฐานกาแฟไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งได้ข้อสรุปจากการสัมมนาและลงพื้นที่ในครั้งนั้นว่าอุตสาหกรรมกาแฟไทยยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากผู้บริโภคกาแฟทั้งในไทยและทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีการปลูกกาแฟ และยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟเป็นอันดับ 6 ของโลก สามารถพัฒนาด้านการผลิต การแปรรูป การสร้างคุณภาพมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ และการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะให้กับกาแฟไทยเป็นที่รู้จักในโลก
“การลงพื้นที่ในวันที่ 24 -25 มกราคม 2562 นี้ ถือเป็นการต่อยอดจากกิจกรรมที่กรมฯ จัดขึ้นในปี 2561 ที่เน้นสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟหรือต้นน้ำ แต่กิจกรรมในปี 2562 จะขยายไปที่การพัฒนาผู้ประกอบการในช่วงกลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วย เพื่อให้ผู้ส่งออก โรงงานแปรรูป ผู้ประกอบการ รวมถึงเกษตรกรที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์
การพัฒนาคุณภาพให้น่าเชื่อถือ นำไปสู่การยอมรับของตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยสินค้าเมล็ดกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 258,000 ไร่ทั่วประเทศ ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟเป็นอันดับที่ 6 ของโลก โดยผลิตภัณฑ์กาแฟส่วนใหญ่ที่ส่งออกเช่น กาแฟ 3 in 1 และกาแฟสำเร็จรูป ไปประเทศในอาเซียน เช่น เมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์ และเนื่องจากการบริโภคกาแฟของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมกาแฟไทยก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน พิจารณาจากความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปในประเทศไทยในปี 2561 ที่สูงกว่า 95,000 ตันต่อปี
เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6.08 จากปี 2560 ขณะที่ไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้ 23,617 ตันต่อปี จึงมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟประมาณ 68,000 ตันต่อปี ซึ่งจากความต้องการกาแฟของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและมีความหลากหลาย ทำให้ไทยมีโอกาสในการส่งออกเมล็ดกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟเพิ่มมากขึ้นด้วย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพื่อชี้โอกาสของกาแฟไทยในโลกการค้าเสรี” นางอรมน กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนา สามารถติดต่อสอบถามและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ สำนักพัฒนาความพร้อมทางการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 02 507 7222 และ 02 507 7863 หรือสำนักงานพาณิชย์ จังหวัดน่าน 054 771 655