“ทุกปัญหาไม่มีทางตัน แต่มีทางออกเสมอ” ประโยคคำพูดที่สะท้อนถึงการมองโลกในแง่บวกและบุคลิกส่วนตัวในการทำงานของ “เนรมิต เทพนอก” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน จากสำนักงานชลประทานที่ 12บุคคลชลประทานของเราในฉบับนี้
ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลสถิติ
นายเนรมิต เล่าว่า ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2524 เขาได้มีโอกาสสอบเข้าศึกษาที่โรงเรียนการชลประทาน ในรุ่นที่ 37ซึ่งภายหลังจากจบการศึกษามาเมื่อ พ.ศ. 2527 เขาได้รับราชการสังกัดกรมชลประทาน ตำแหน่งนายช่างชลประทาน 2 สำนักงานชลประทานที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา (สมัยนั้นคือสำนักงานชลประทานที่ 6) ปฏิบัติงานในเรื่องของการเก็บสถิติข้อมูล เช่นระดับน้ำ ปริมาณน้ำ วิเคราะห์วางแผนการส่งน้ำให้กับโครงการชลประทาน
“งานเก็บสถิติข้อมูล ทำให้ผมได้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูล และที่สำคัญข้อมูลทุกตัวต้องเก็บอย่างถูกต้องเพื่อให้สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว”
พ.ศ. 2537 นายเนรมิตมีโอกาสทำงานที่หลากหลายมากขึ้น สำหรับงานด้านก่อสร้าง คือ การได้เป็น 1 ในทีมงานสร้างฝายยางบ้านส้ม จังหวัดนครราชสีมา เป็นความภาคภูมิใจแรกในฐานะคนชลประทาน แต่กระนั้นงานก่อสร้างก็ยังไม่ใช่งานที่เป็นอัตลักษณ์ประจำตัวของนายเนรมิต เพราะสิ่งที่เขาถนัดคือ “การประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลและสร้างสรรค์นวัตกรรม”
สร้างชื่อเสียงให้กรมชลประทาน 2 ปีซ้อน
ช่วง พ.ศ. 2551-2557 นายเนรมิตซึ่งมีตำแหน่งวิศวกรชลประทานชำนาญการในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้เริ่มฉายแสงจากการได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลและสร้างสรรค์นวัตกรรม ส่งผลงานเข้าประกวดจนได้รับรางวัลจากทีมงานจัดการความรู้กรมชลประทาน รวมทั้งได้สร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกร และสร้างชื่อเสียงให้แก่กรมชลประทานมากมาย ได้แก่
พ.ศ. 2554-2555 จัดทำ “โครงการบูรณาการเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา” นำหลักการวิเคราะห์สถิติข้อมูลที่สั่งสมมาตลอดหลายสิบปี มาประยุกต์ใช้ในการบริหารระบบเครือข่ายกับหน่วยงานท้องถิ่น จนมีผลสัมฤทธิ์ คือช่วยให้เกิดความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ยังได้ “จัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ผู้ใช้น้ำระดับแปลงนา และการประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการให้บริการ” ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 12 ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ทำให้เขาได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2556และ พ.ศ. 2557 เป็นรางวัลระดับประเทศ 2 ปีซ้อน ที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
บทพิสูจน์ครั้งสำคัญ และเกียรติยศสูงสุด
พ.ศ. 2557 เป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง และแล้วบทพิสูจน์การทำงานครั้งใหญ่ของนายเนรมิตก็มาถึงเขาได้รับคำสั่งให้ย้ายมาปฏิบัติงานเป็นวิศวกรชลประทานชำนาญการพิเศษในตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 ซึ่งเขาหนักใจมากเพราะขณะนั้นคุณพ่อกำลังป่วยหนัก และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
การทำงานในตำแหน่ง นี้ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มาจากจังหวัดนครสวรรค์ ไปสู่พื้นที่ที่รับผิดชอบ 5จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี โดยเฉพาะช่วงคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการแย่งชิงน้ำของเกษตรกรมานานหลายปีจากสภาวการณ์เช่นนี้ นายเนรมิตต้องควบคุมสติเป็นอย่างมาก เขาจึงใช้วิธีลงพื้นที่เพื่อคลุกคลีกับเกษตรกรอยู่นานหลายเดือน ในที่สุดก็พบสาเหตุของปัญหา คือ “เกษตรกรไม่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่แท้จริง”
นายเนรมิตแก้ปัญหาโดยการนำคณะกรรมการจัดการชลประทาน หรือ JMC มาบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ทำการจัดรอบเวรการส่งน้ำเป็นช่วงคลอง และขอความร่วมมือกับฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครองและผู้นำท้องถิ่นมาช่วยลาดตระเวนทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อตรวจดูการลักลอบสูบน้ำ ระหว่างนั้นก็นำเกษตรกรมามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ สิ่งที่ทำมาเริ่มเห็นผลสัมฤทธิ์ทุกครัวเรือนได้รับน้ำอย่างยุติธรรม วันแห่งศรัทธาก็กลับมาสู่กรมชลประทานอีกครั้งพร้อมกับเกียรติยศสูงสุดของนายเนรมิต
“ผมคิดว่าทุกปัญหาไม่มีทางตัน แต่มีทางออกเสมอ เพราะจากวันที่ทุกคนว่ากล่าวเรา แต่วันหนึ่งกลับนำดอกดาวเรืองมาคล้องให้ผม เพื่อขอบคุณที่สร้างให้เขาเป็นเกษตรกรที่เข้มแข็ง และจากผลของการปฏิบัติงานมาหลายสิบปี ทำให้ผมได้รับเลือกให้เป็น ข้าราชการพลเรือนดีเด่นระดับประเทศ พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นรางวัลที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิต”
ไม่หยุดคิด คือบุคลิกของนายเนรมิต
จากวันที่ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น แม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว ณ วันนี้นายเนรมิตมีตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน แต่เขายังคงใช้ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ฐานข้อมูลสถานการณ์น้ำและฐานข้อมูลแปลงนาบนเว็บไซต์สำนักงานชลประทานที่ 12 (www.rio12.go.th) พัฒนาแอปพลิเคชัน RIO12 WMS เป็นระบบรับแจ้งและติดตามสถานการณ์น้ำของสำนักงานชลประทานที่ 12 และปัจจุบันกำลังฟอร์มทีมงานร่วมกันพัฒนาให้มีระบบสารสนเทศรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยสร้างอำนาจต่อรองในการทำตลาดให้แก่เกษตรกร เรียกว่า “โครงการพัฒนาฐานข้อมูลแปลงนาเพื่อเกษตรกร 4.0” ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา
ท้ายนี้ นายเนรมิต ฝากข้อคิดที่น่าสนใจถึงพี่น้องชลประทานและผู้อ่านทุกท่านว่า “ผมอยากฝากข้อคิดไปถึงพี่น้องข้าราชการทุกคนว่า อาชีพข้าราชการเป็นสิ่งที่มีเกียรติจงตระหนักเสมอว่าเรากำลังปฏิบัติงานเพื่อประเทศ เราไม่ได้ทำงานเพื่อตนเองหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกวันนี้เรากำลังทำงานให้กรมชลประทานและประเทศไทยส่วนตัวผมจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ต่อไปตราบที่ชีวิตของผมจะทำได้