The stronger ฅนหัวใจแกร่ง EP.16 ธีรยุ พวงผล จากใจติดลบ สู่ผู้ส่งต่อพลังบวก


มีหลายหน่วยงานพยายามจะช่วยผมให้พ้นจากตรงนี้ ทางแม่เองก็เปิดใจ แต่แม่ก็ยังแคร์ในความรู้สึกของลูก ถ้าลูกบอกไม่เอาก็คือไม่เอา จนคนเข้ามาบ่อยๆเข้า เชื่อว่าคนเป็นแม่ก็ท้อ กระทั่งไม่ไหว จู่ๆแม่หายไปวันนึง แล้วก็กลับมาบอกว่าร้องไห้นะ แม่เล่าว่าแม่ไปที่สะพานนวลฉวี แถวปทุมธานี ไปนั่งอยู่นาน คิดแล้วคิดอีกว่าอยากกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่มาคิดอีกที ถ้าแม่ตายไป ผมจะอยู่ยังไง แม่ก็เลยไม่ทำ แม่ผมเข้มแข็งมาก เลยทำให้คิดได้ว่า เราทำอย่างนี้ ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมาเลย แต่กลับยิ่งกลัวมากขึ้น สิ่งที่เรากลัวคือจะอยู่ยังไงในอนาคต แต่เรากำลังทำให้ตัวเองเป็นอย่างนั้นในอนาคต เลยตัดสินใจบอกแม่ว่าจะเริ่มต้นใหม่: ธีรยุ พวงผล

รายการ The Stronger ฅนหัวใจแกร่ง ครั้งนี้ พาไปที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อพบกับคุณเต้ย ธีรยุ พวงผล อดีตนักกีฬายูโดเยาวชนที่ชีวิตต้องประสบกับอุบัติเหตุไม่คาดฝัน ทำให้พิการทางการเคลื่อนไหว จากที่เคยเป็นนักกีฬา จิตใจเข้มแข็ง กลับกลายมาเป็นท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต แต่ในทุกวันนี้ เขากลายมาเป็นหนึ่งคนที่มีความสุข และสามารถก้าวผ่านความทุกข์ยากลำบากได้

คุณเต้ย เล่าถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นว่า ตอนนั้นอายุ 18 ปี กำลังศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยพละศึกษากรุงเทพฯ เป็นนักกีฬายูโด ช่วงการแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติ เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนจะกลับบ้าน ได้นั่งอยู่ตรงระเบียงของอาคารที่พักนักกีฬา แล้วเกิดพลัดตกลงมาด้วยระดับความสูง 4 ชั้น ทำให้เอวกระแทกพื้น กระดูกเอวตรงช่วงเอวหัก จนหมดความรู้สึกช่วงล่างไปครึ่งตัว ทำให้แม่ต้องคอยดูแลที่เตียงนอนตลอดเวลา ช่วงแรกเศร้ามาก หนักกว่าท้อแท้ เพราะอยากตายทุกเวลา แค่เห็นสภาพตัวเอง ก็รับไม่ได้ แค่เห็นในสิ่งที่ ที่เรานึกขึ้นมาได้ ว่าเราเคยทำอะไรอย่างนี้ เราก็ไม่อยากอยู่ บางทีทำอะไรไม่ได้นิดหน่อยเหมือนในหนังเลยนะ มันหงุดหงิด อยากทำนั่นทำนี่ก็ไม่ได้ ต้องเรียกนั่น เรียกคนนั้น เรียกคนนี้ มันกลายเป็นว่าเราเป็นคนเอาแต่ใจ แล้วก็…ไม่ได้มีอะไรที่มันให้เราดีขึ้นมาเลยอะ มีแต่จอโทรทัศน์ ทีวี เกมส์ และหลังคาร้อนๆ

ตอนนั้นมีหลายหน่วยงานพยายามจะช่วยเหลือผมให้พ้นจากตรงนี้ เช่น หน่วยงานจังหวัดสังคมสงเคราะห์ ซึ่งทางแม่เองก็เปิดใจ แต่แม่ก็ยังแคร์ในความรู้สึกของลูก ถ้าลูกบอกไม่เอาก็คือไม่เอา จนคนเข้ามาบ่อยๆเข้า เชื่อว่าคนเป็นแม่ก็ท้อ กระทั่งไม่ไหว จู่ๆแม่หายไปวันนึง แล้วก็กลับมาบอกว่าร้องไห้นะ แม่เล่าว่าแม่ไปที่สะพานนวลฉวี แถวปทุมธานี ไปนั่งอยู่นาน คิดแล้วคิดอีกว่าอยากกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่มาคิดอีกทีนึง ถ้าแม่ตายไป ผมจะอยู่ยังไง แม่ก็เลยไม่ทำ แม่ผมเข้มแข็งมาก เลยทำให้คิดได้ว่า เราทำอย่างนี้ ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมาเลย แต่กลับยิ่งกลัวมากขึ้น สิ่งที่เรากลัวคือจะอยู่ยังไงในอนาคต แต่เรากำลังทำให้ตัวเองเป็นอย่างนั้นในอนาคต เลยตัดสินใจบอกแม่ว่าจะเริ่มต้นใหม่ แม่ถามว่าเต้ยสู้ไหม ผมตอบว่า หนูสู้แม่ หนูสู้ แม่ก็บอกว่าโอเค ถ้าเต้ยสู้ แม่ก็สู้ แล้วก็จำคำนี้ได้ตลอด เราสัญญากันว่าเราจะสู้ จึงเริ่มติดต่อไปยังศูนย์กายภาพบำบัดแห่งต่างๆ เพื่อไปเรียนรู้ที่จะเอาตัวเองให้รอดในสภาพความพิการนี้ได้อย่างไร

หลังจากนั้น ได้ไปฟื้นฟูร่างกายที่ภูเก็ต แม่ก็มาเป็นเชฟประจำร้านอาหารแถวตำบลฉลอง เลยได้มาใช้ชีวิตในภูเก็ต แล้วเจอกับสังคมใหม่ๆ เช่น ชาวต่างชาติ ซึ่งก็เป็นอย่างที่เราคิด คือเขาไม่ได้แคร์ในสิ่งที่เราเป็น ทำให้ผมเริ่มจะเรียนรู้เพื่อมีอาชีพมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งได้โอกาสจากครอบครัวชาวต่างชาติให้ทำงานเฝ้าร้านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกที่อยู่ในความพิการ เลยมีความสุขกับงานมาก นอกจากนี้ ยังได้มีการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำกราฟฟิกดีไซน์ด้วย และมีโอกาสเป็นนักเพาะกายด้วย

ปัจจุบันนี้คุณเต้ยเป็นเจ้าพนักงานผู้พิการปฏิบัติงานที่สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต มีหน้าที่หลักคือคีย์ข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริจาคดวงตา และอวัยวะต่างๆ เข้าระบบ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ธุรการเกี่ยวกับหนังสือราชการต่างๆที่ถูกส่งเข้ามา รวมถึงหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานด้วยกันในศูนย์สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ตนี้ โดยทั้งหมดนี้จะรับเงินเดือนจากทางธนาคารเกียรตินาคิน

งานในอดีตกับงานที่ทำในปัจจุบันแตกต่างกันมาก เพราะงานที่ทำสมัยก่อนจะเป็นงานที่ทำเพื่อตัวเองเป็นหลัก คือหารายได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวเองจะไม่ลำบาก แต่งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ แตกต่างมากกว่าตรงที่ผมได้ให้ มากกว่าที่ได้รับเข้ากับตัวเอง มันเป็นงานองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และเข้าไปหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับผู้ที่กำลังประสบภัยต่างๆ หรือประสบปัญหาต่างๆ ที่นี่ให้อะไรผมมากกว่า เงินเดือนที่ได้รับ แถมยังให้ผมได้รู้สึกถึงความมีคุณค่าในการให้ แบ่งปัน แต่ตอนนี้ทำโดยที่ไม่หวังว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะได้เงินหรือไม่ก็ตาม แต่ผมได้ให้ ผมมีความสุขมากกว่า

งานนี้ทำให้ผมได้รู้ว่าคุณค่าของชีวิตผมมากขึ้นกว่าเดิม ทีแรกผมรู้ ผมเคยค้นหาความหมายของคำว่าผมเกิดมาทำไม ทำไมเกิดมาแล้วทำไมต้องมาพิการ เหตุอะไรเกิดขึ้น สุดท้ายผมได้คำตอบว่ามันคือภารกิจ ผมอาจจะต้องพิการ เพื่อที่จะให้ คนได้มีกำลังใจอยู่ต่อ จากการที่ผมได้พูดคุย ได้เห็นผม ผมเกิดมาเพื่อที่ จะมาทำงานที่นี่ มันก็ยิ่งเพิ่มคุณค่าชีวิตให้ผมได้ง่ายขึ้นในการที่จะทำในสิ่งที่ผมอยากจะทำ คือความฝันของผม อยากเป็นนักพูด อยากเป็นโค้ชชิ่ง อยากเป็นคนให้แรงบันดาลใจกับทุกๆคน ด้วยประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา ซึ่งทั้งผิด ทั้งถูก ทั้งลองทุกสิ่งทุกอย่าง แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ผมมีชีวิต มีความคิด มีความคิดในแง่บวก ที่ทำให้ผมนั้นสามารถสู้ชีวิตต่อไปบนสภาพความพิการได้ ที่นี่คือส่วนหนึ่งในการที่ทำให้ผมได้ฝึกทักษะ ฝึกความคิด เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ทั้งหมด

ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนที่ผมเริ่มพิการ จนถึงตอนนี้ เวลาก็ผ่านมาเป็นสิบปี ซึ่งผมมองไว้ว่าเปลี่ยนไปค่อนข้างในแนวทางที่ดีมากๆ แต่อาจจะไม่เร็ว แต่ไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องของสวัสดิการและการยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลยคือความเข้าใจคนพิการจากคนปกติ ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสังคมเดียวกันค่อนข้างจะชัดเจนขึ้น มีการเอื้อเฟื้อ การช่วยเหลือมากขึ้น ตามห้างสรรพสินค้าหรือว่าตึกต่างๆนะ เริ่มมีการให้ความสนใจ เกี่ยวกับอารยสถาปัตย์ ที่คนพิการสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการเข้าไปในสถานที่นั้นได้ รวมถึงบริการสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งตรงนี้ก็ค่อนข้างที่จะดูแลคนพิการได้ดีกว่าสมัยก่อนค่อนข้างเยอะ แล้วก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากเลยก็คือว่า อยากให้คนพิการเองนี่แหละครับ กล้าที่จะออกมาแสดงพลังความสามารถ เพื่อที่จะลบภาพเก่าๆว่าเราเป็นคนพิการเราทำอะไรได้บ้าง กับคำนี้ แต่ว่าเราจะแสดงว่าเราเป็นคนพิการ เราสามารถทำอะไรได้บ้างให้เขาเห็น ไม่ใช่ให้เขาถามเรา ว่าเราทำอะไรได้บ้าง แต่เราแสดงให้เขาเห็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง

เราต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเราใหม่ เราต้องให้คนมองเราไม่ใช่เป็นผู้รับอย่างเดียว เราต้องมองว่าเราพร้อมจะเป็นผู้ให้ เราอาจไม่ต้องให้เยอะเหมือนผู้ให้คนปกติทั่วไป แต่เราให้ในส่วนที่เราให้ได้ แล้วเราก็เต็มใจให้โดยที่เรามีเท่าไหร่เราให้เท่านั้น ผมเชื่อเลยว่าวันนึง สิ่งต่างๆที่เราทำมันแสดงศักยภาพของเราออกมามัน ทำให้ทุกคนยอมรับและเคารพในสิทธิของเรา และเชื่อมั่นในศักยภาพของเรา ว่าเราสามารถที่จะอยู่ร่วมกับคนปกติได้อย่าง อย่างสมบูรณ์แบบ