The stronger ฅนหัวใจแกร่งฅนหัวใจแกร่ง EP.20 ดลธนา สุทธิวาส ผู้พิการรวยน้ำใจ


ในการทำงานของผม ไม่มีอะไรที่เป็นภาระต่อสังคม ผมจะเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ให้มีแรงกระตุ้น มีแรงบันดาลใจ ไม่เอาผลเป็นต้นแบบ เวลาผมดูรายการต่างๆ จะเอามาวิเคราะห์ แล้วประยุกต์ใช้ปรับปรุงตัวเอง เราต้องทำได้เหมือนเขา เราต้องดีพอๆกับเขา หรือถ้าไม่ได้ ก็ทำแค่เทียบๆเขาก็พอแล้วครับ: ดลธนา สุทธิวาส

รายการ The Stronger ฅนหัวใจแกร่ง ครั้งนี้พาไปที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อพบกับคุณดลธนา สุทธิวาส ชายพิการที่สูญเสียขาไปหนึ่งข้างจากอุบัติเหตุ ส่งผลให้เขาท้อแท้หมดหวังในชีวิต แต่สุดท้ายก็สามารถลุกขึ้นมาสู้ชีวิตอีกครั้ง พร้อมทำกิจกรรมเพื่อช่วยสังคม โดยเฉพาะงานเพื่อคนพิการ

คุณดลธนาเล่าว่า ช่วงกลางปี 2537 ขณะทำงานอยู่บ่อเลี้ยงกุ้ง ก่อนกลับบ้าน ฝนเกิดตกหนัก และเดินไปสะดุดเพลาจนพันกับขอบรองเท้าบูท จนทำให้ขาขาดและต้องนอนพักอยู่ที่โรงบาลปกเกล้า 10 กว่าวัน ช่วงออกมารู้สึกท้อแท้ หมดหวัง จะเดินขึ้นลงบันไดก็ลำบาก ได้แต่ทำงานอยู่กับบ้าน งานอะไรที่เคยทำได้ ก็ทำไม่ได้แล้ว ก็พยายามค่อยๆปรับความคิด

ตอนที่ได้ขาเทียมมาแล้ว ได้ไปฝึกสวมขาเทียม และการเดินที่โรงบาลทหารผ่านศึก 7 วัน จากนั้นได้ไปฝึกการใช้ชีวิตที่ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พร้อมทำงานกับศูนย์แห่งนี้ เพื่อเป็นต้นแบบให้เกิดการสร้างอาชีพ อย่างผมที่ทำอาชีพขายกาแฟ ควบคู่กับการทำสวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ซึ่งร้านกาแฟจะเปิดตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง ถึง 4 โมงเย็น เพราะตอนเช้า จะมีลูกค้ามานั่งคุยกันตั้งแต่ 6 โมง ส่วนงานสวนผลไม้ ก็จะช่วยกันดูแลกับภรรยา และมีคนงานมาช่วยทำในส่วนที่เราทำไม่ได้ เช่น มังคุดเราก็ต้องจ้างเขาเก็บกิโลกรัมละ 10 บาท แต่ถ้าพ่อค้าคนกลางมาเก็บองแล้วเหมาไปขาย เราก็ได้ 9 บาท

นอกจากนั้นยังทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย โดยเป็นประธานชมรมคนพิการของตำบล เช่น คนพิการจะกู้เงิน หรือสร้างอาชีพก็จะกลุ่มผู้พิการคอยติดต่อประสานงานและจัดอบรมให้ ส่วนเรื่องที่อยู่อาศัย เราก็ให้ช่างเขาไปซ่อมให้ดีขึ้น อย่างการซ่อมห้องน้ำ เพื่อการใช้งานได้อย่างสะดวก พึ่งพาตัวเองได้ และดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติ

ด้านการเข้าถึงสวัสดิการจากภาครัฐ มองว่าทุกวันนี้ยังเข้าถึงได้น้อยมาก และสวัสดิการพื้นฐานก็ยังไม่เพียงพอเท่าไหร่ ซึ่งภาครัฐเองควรจะส่งเสริมสนับสนุนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอาชีพ ซึ่งเราก็พยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อลดการพึ่งพาภาครัฐ

สุดท้ายคุณดลธนาฝากข้อคิดว่า ในการทำงานของผม ไม่มีอะไรที่เป็นภาระต่อสังคม ผมจะเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ให้มีแรงกระตุ้น มีแรงบันดาลใจ ไม่เอาผลเป็นต้นแบบ เวลาผมดูรายการต่างๆ จะเอามาวิเคราะห์แล้วประยุกต์ ใช้ปรับปรุงตัวเอง เราต้องทำได้เหมือนเขา เราต้องดีพอๆกับเขา หรือถ้าไม่ได้ ก็ทำแค่เทียบๆเขาก็พอแล้วครับ