บุคคลชลประทาน ธรรมนูญ อินทร์นุช ผู้ไม่เคยหยุดพัฒนา แสดงความมุ่งมั่นและตั้งใจ อยู่ที่ไหนก็ฉายแสง


ตำแหน่งทางราชการนั้นนอกจากจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณลักษณะด้านการทำงานแล้ว ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญก้าวหน้าบนเส้นทางสายราชการ เช่นเดียวกับ นายธรรมนูญ อินทร์นุช ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 9 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่พัฒนาระดับความสามารถของตนเอง ตั้งแต่ครั้งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย จนกลายมาเป็นหนึ่งในพลังสำคัญของกรมชลประทาน ขับเคลื่อนงานออกแบบและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหลายแห่งในประเทศไทย จนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในความสามารถ

ครอบครัวชลประทาน ภาพจำและแรงผลักดันวัยเด็ก
ธรรมนูญ เล่าว่า ชีวิตวัยเด็กของเขาเติบโตที่จังหวัดสระบุรี ศึกษาจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านหมอ “พัฒนราษฎร์” ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนบ้านหมอ “พัฒนานุกูล” และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัยจังหวัดลพบุรี และจากการที่ได้เห็นพ่อกับแม่ทำงานเป็นลูกจ้างประจำที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง จังหวัดสระบุรี เป็นความจดจำและแรงผลักดันว่าวันหนึ่งเขาจะต้องเป็นข้าราชการกรมชลประทานให้ได้

“ผมโตมากับชลประทาน วิ่งเล่นอยู่ในบ้านพักชลประทานตั้งแต่เด็ก เห็นพ่อและแม่ทำงานชลประทาน ได้เห็นพี่ ๆที่เรียนโรงเรียนการชลประทานมาฝึกงานก็อยากเป็นอย่างเขาบ้าง หลังจากศึกษาจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็ไม่ได้เรียนต่อเพราะสอบอะไรไม่ติด จึงทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง ในช่วงที่ไม่ได้เรียนต่อ โดยทำงานวันจันทร์-ศุกร์ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ก็นั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนพิเศษ เตรียมสอบในปีต่อไป”

เริ่มต้นงานออกแบบ เป็น 1 ในทีมออกแบบเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
จากนั้นได้สอบเข้าเป็นนักเรียนช่างชลประทานรุ่นที่ 44 ต่อมาในช่วงระหว่างที่ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ได้มาทำงานอยู่ที่ฝ่ายออกแบบเขื่อน 3 กองออกแบบกรมชลประทาน ถนนสามเสน ซึ่งเป็นงานสายวิชาการ โดยทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยจนศึกษาจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทเวศร์ พ.ศ. 2538

ธรรมนูญ เล่าว่า ช่วงที่ทำงานอยู่ที่กองออกแบบ ขณะนั้นฝ่ายออกแบบเขื่อน 3 ได้รับมอบหมายจากกรมให้ออกแบบเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขาจึงเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานออกแบบ มีหน้าที่ร่วมออกแบบเขื่อนและอาคารประกอบเช่น อาคารระบายน้ำล้น อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม ถนนรอบอ่างเก็บน้ำ และในระหว่างนั้นยังได้มีส่วนร่วมออกแบบอีกหลาย ๆ โครงการ เช่น อ่างเก็บน้ำบ้านวังม่วง จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำคลองศาลทรายจังหวัดจันทบุรี และอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว จังหวัดตรัง
ย้ายสู่เส้นทางสายงานก่อสร้าง เพื่อลุยงานภาคสนามเต็มตัว

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์งานในกองออกแบบได้ประมาณ 10 ปี ธรรมนูญเปลี่ยนสายงานมาอยู่สายงานก่อสร้างด้วยเหตุผลหลัก คือ เพื่อสานต่องานก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ได้ออกแบบไว้ให้แล้วเสร็จ

“ช่วงรอยต่อก่อนที่จะย้ายจากกองออกแบบไปอยู่สายงานก่อสร้างที่โครงการก่อสร้าง 8 สำนักโครงการขนาดใหญ่ ตำแหน่งวิศวกรโยธา ผมได้ออกแบบอาคารป้องกันน้ำไหลย้อนกลับของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เอาไว้ ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถช่วยป้องกันน้ำจากแม่น้ำป่าสักเข้าท่วมบริเวณท้ายเขื่อนในช่วงที่มีการระบายน้ำปริมาณมากผ่านอาคารระบายน้ำล้น ซึ่งใช้เวลาออกแบบงานอาคารดังกล่าว 1 ปี จึงได้ย้ายไปอยู่สำนักโครงการขนาดใหญ่เพื่อก่อสร้างงานที่ได้ออกแบบไว้ให้แล้วเสร็จ”
สั่งสมประสบการณ์ รับผิดชอบงานตามภารกิจที่ได้รับ

เมื่อจบงานที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ธรรมนูญลุยงานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีต่อในทันที ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 6 รับผิดชอบงานด้านงบประมาณและควบคุมงานก่อสร้าง เช่น งานระบบท่อส่งน้ำส่วนขยาย อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง งานระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบ โครงการผันน้ำจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก-อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี งานเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำประแสร์ (ฝายพับได้) จังหวัดระยอง จนเมื่อ พ.ศ. 2561 ได้ย้ายมาปฏิบัติงานที่สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 9 จังหวัดจันทบุรี รับผิดชอบงานในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี รวมถึงงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำเจริญราษฎร์ จังหวัดสมุทรปราการ และก่อสร้างสถานีสูบน้ำบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา

ปัจจุบันธรรมนูญเป็นผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 9 งานที่รับผิดชอบมีมากขึ้นเพราะต้องดูแลภาพรวมทั้งหมดของโครงการ ทั้งงบประมาณ งานก่อสร้างและงานเตรียมความพร้อมโครงการเช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรีเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดชัยนาท ที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยการเร่งการระบายน้ำลงสู่ทะเลเร็วขึ้น

ผลงานที่ภาคภูมิใจ โครงการใหญ่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

หลังจากผ่านประสบการณ์การทำงานมาหลากหลาย เมื่อถามถึงผลงานที่ภาคภูมิใจ ธรรมนูญ บอกว่า การที่ได้ร่วมออกแบบและก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และภาพความปีติยินดีที่ได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขนาดใหญ่แห่งนี้

สำหรับเป้าหมายต่อจากนี้ ธรรมนูญบอกว่า จะยังคงมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานต่อไป ตามที่ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายอย่างสุดความสามารถ และพยายามจะเปิดงานก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ ให้มากที่สุด ตามขอบเขตความรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายจากกรม โดยในส่วนของงานก่อสร้างจะเป็นการจัดหาแหล่งน้ำและบรรเทาภัยจากน้ำเป็นหลักซึ่งภายหลังจากงานก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะทำให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากโครงการ มีน้ำกินน้ำใช้ และได้เห็นชาวบ้านหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ในฐานะคนทำงานก็มีความสุขแล้ว