โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐลุ่มน้ำย่อย คลองกัดตะนาวใหญ่ตอนบน จังหวัดสระแก้ว แล้งนี้ต้องรอดด้วยหลักการคำนวณต้นทุนปริมาณน้ำทำการเกษตร


เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 วารสารข่าวชลประทานได้เคยเดินทางไปสัมภาษณ์คณะทำงานประชารัฐโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐลุ่มน้ำย่อย คลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง ณ ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐอันเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำให้แก่เกษตรกร โดยการร่วมมือของทุกภาคส่วน ผสานกับความรู้ด้านการชลประทาน โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ต่อยอดขยายผลไปสู่พี่น้องเกษตรกรคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนบน พื้นที่ 8 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,000 คน ณ วันนี้เกษตรกรที่แห่งนี้สามารถเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้แก่ตนเองได้แล้ว

นายลำพอง ดุสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 16 บ้านสันตะวา หนึ่งในคณะทำงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐลุ่มน้ำย่อย คลองกัดตะนาวใหญ่ตอนบนเล่าว่า “คณะทำงานของเรา เกิดขึ้นจากการขยายผลของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐลุ่มน้ำย่อย คลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง โดยลุ่มน้ำนั้นจะมีพื้นที่แบ่งเป็นตอนบน ตอนกลางและตอนล่าง โดยเลือกทำจากตอนล่างขึ้นมาก่อน เมื่อเห็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จึงต่อยอดขึ้นมาทำยังตอนกลางและตอนบนซึ่งดำเนินการพร้อมกัน”

โดยในส่วนของพื้นที่ตอนบน สมัยก่อนชาวบ้านแถบนี้จะไม่มีความรู้ทางด้านการบริหารจัดการน้ำเลย ไม่เคยรู้และเข้าใจเรื่องการดูแลรักษาคลองส่งน้ำ รวมทั้งไม่เคยมีการรวมกลุ่มพูดคุยกันระหว่างพี่น้องเกษตรกร จึงไม่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยอยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่ พอเมื่อถึงฤดูแล้งส่งผลทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนเรื่องน้ำมาโดยตลอด แม้จะมีแหล่งน้ำต้นทุนอยู่หลายแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนแพรกกะหมู 2 อ่างเก็บน้ำเขื่อนแพรกกะหมู 3 คลองแพรกกะหมู 2 ทำนบดินบ้านหนองเรือ และคลองบ้านหนองเรือ เป็นต้น

“เจ้าหน้าที่ชลประทานและคณะทำงานจากทีมตอนล่าง เข้ามาอบรมเรื่องการอยู่ร่วมกันของสมาชิก ซึ่งผลของการไม่เคยพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ก็ทำให้ไม่เกิดการแบ่งปันที่ดี ส่วนองค์ความรู้อื่น ๆ ที่ได้จากการเข้าร่วมคือ การสำรวจพื้นที่ การจัดทำแผนที่ทำมือ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนและที่สำคัญ คือ เราได้องค์ความรู้ด้านการหาต้นทุนปริมาณน้ำที่จะใช้ในการทำการเกษตร

หลักการคำนวณปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับทำการเกษตร จะช่วยให้เกษตรกรสามารถหาปริมาณความต้องการใช้น้ำของพืชและการใช้น้ำเพื่อเลี้ยงสัตว์ในแต่ละปีได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีหลักคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน สำหรับฤดูแล้งนี้ แม้ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนจะมีน้อยกว่าปีก่อน แต่คณะทำงานประชารัฐโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐลุ่มน้ำย่อย คลองกัดตะนาวใหญ่ตอนบน มั่นใจว่าด้วยองค์ความรู้ที่มีและจะพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้

“เราจะบริหารจัดการน้ำที่มีโดยยึดตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคและบริโภคเป็นอันดับแรก ต่อมาคือการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปลูกพืชผักสวนครัวไว้ เช่น ข่า ตะไคร้ เน้นใช้รับประทานกันเองในครอบครัว เมื่อเหลือจึงนำไปจำหน่าย นอกจากนี้ในหลายครอบครัวการตื่นตัวเรื่องโครงการ โคก หนอง นา มีการขุดบ่อเพื่อไว้รองรับน้ำฝนเก็บไว้ใช้เอง ซึ่งหากใช้น้ำโดยไร้องค์ความรู้แบบสมัยก่อนน้ำทีมีน่าจะหมดไปตั้งนานแล้ว”

ปัจจุบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐต่างมีความรู้ในด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ซึ่งทุกเดือนจะมีการจัดประชุมเพื่อพบปะพูดคุยเพื่อสร้างการแบ่งปัน ประชาชนที่นี้จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกสวนลำไยเป็นหลัก แต่ในวันที่น้ำน้อยพวกเขาใช้หลักความสามัคคีพร้อมใจกันลดการปลูก ลดความขัดแย้งในด้านน้ำและพร้อมสืบทอดองค์ความรู้ไปสู่คนรุ่นหลัง เพื่อให้ศาสตร์แห่งความยั่งยืนส่งต่อไปอย่างไม่รู้จบ