เขื่อนทุกแห่งที่อยู่ในการควบคุมดูแลของกรมชลประทาน ผ่านการสร้างและการวางรากฐานโดยวิศวกร ชั้นแนวหน้ามากมาย หนึ่งในนั้นคือ นายพิเชษฐ รัตนปราสารทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม
รากฐานจากครอบครัวข้าราชการ
พิเชษฐ เล่าให้ฟังว่าโดยพื้นเพแล้วเขาเป็นคนจังหวัด เชียงรายโดยกำเนิด เติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นอดีตเสมียนตราอําเภอ คุณแม่เป็นครู และน้องชาย อีก 1 คน พิเชษฐเริ่มต้นการศึกษาในจังหวัดเชียงรายจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนกระทั่งอายุ 18 ปี จึงย้ายมาอยู่กรุงเทพมหานครเพื่อสอบเข้าศึกษาต่อโดยเป้าหมายที่เขาเลือกในตอนนั้นคือ การสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
น่าเสียดายที่ตอนนั้นเขาสอบไม่ติด หลังเคว้งไปสักพักหนึ่ง เมื่อได้ใช้เวลาพิจารณาทางเลือกชีวิตของตนเองอีกครั้ง พิเชษฐก็ตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนการชลประทาน ซึ่งปัจจุบันแปรเปลี่ยนเป็น วิทยาลัยการชลประทานสถาบันสมทบของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่นี่ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต
ความฝันที่เคยเลือนหาย
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ อาจจะคิดว่าพิเชษฐผิดหวังจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แล้วจึงลุ่มสอบเข้าโรงเรียนกรมชลประทาน แต่เนื้อแท้แล้วการทำงานด้านการชลประทานเคยเป็นหนึ่งในความฝันที่พิเชษฐหลงลืมไปนาน “สมัยเด็กบ้านผมจะอยู่ใกล้ฝาย ตำบลเชียงเคียน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้าน เราก็ไปเล่นน้ำตามประสาเด็ก ตอนนั้นก็สงสัยว่าทำไมเขาสร้างสิ่งนี้ได้ แล้วถ้าเป็นเราจะสร้างได้ไหม ถ้าสร้างได้ก็น่าจะโอเคนะ”
เมื่อสอบเข้าโรงเรียนการชลประทานสำเร็จ ความฝันนั้นจึงหวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อเขาจบการศึกษาระดับอนุปริญญาในพ.ศ.2533 แล้วได้เริ่มงานแรกที่สำนักงาน ชลประทานที่ 9 จังหวัดชลบุรี ทำงานเป็นนายช่าง ชลประทาน 2 ปี ก่อนจะกลับไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์ เพื่อเก็บหน่วยกิตให้ได้วุฒิปริญญาตรี และเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทต่อที่ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ สำเร็จการศึกษาก็กลับมาทำงานกรมชลประทาน อย่างเต็มตัวจนถึงปัจจุบัน
การออกแบบเพื่อนชลประทานจากพระราชดําริของของในหลวงรัชกาลที่ 9
นับตั้งแต่ได้บรรจุเป็นข้าราชการใน พ.ศ. 2533 พิเชษฐเล่าว่าเขามีผลงานที่ภาคภูมิใจอย่างมาก คือ การออกแบบเขื่อนของกรมชลประทานไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ซึ่งมีตั้งแต่การเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนออกแบบ เล็ก ๆ น้อยๆ ไปถึงการเป็นหัวหน้างาน การจะได้แบบสำหรับก่อสร้างเขื่อนนั้นจะมีขั้นตอนที่ยากและท้าทาย ต้องลงพื้นที่ไปสำรวจทั้งสภาพภูมิประเทศ สภาพวิถีชีวิตของผู้คนในละแวกนั้น สิ่งที่ใช้กับเขื่อนหนึ่ง จะมาใช้กับอีกเขื่อนหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะสภาพภูมิประเทศ ลักษณะที่ตั้ง วัสดุก่อสร้าง ปริมาณน้ำ ปริมาณฝน ในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน หากไม่ใส่ใจทำงานอย่างเต็มที่ ย่อมส่งผลต่อประชาชนในพื้นที่ สิ่งแวดล้อม และชื่อเสียงของกรมชลประทาน
สำหรับการออกแบบเขื่อนที่พิเชษฐภาคภูมิใจ คือ “ผมภูมิใจกับการมีส่วนร่วมในการออกแบบสร้างเขื่อน ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะ ในช่วงออกแบบและก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งในช่วงนั้นที่ผมยังเป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นหนึ่งในทีมดำเนินการออกแบบ เขื่อนใหญ่นี้”
แม้ภาระหน้าที่จะรัดตัว แต่พิเชษฐเผยว่าอีกภารกิจสำคัญของเขาคือ การแบ่งเวลาเพื่อภรรยาและลูกชายฝาแฝด ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือหากมีวันหยุดยาว เขาจะพาครอบครัวไปเที่ยวเป็นประจำ เพราะหากปราศจากครอบครัวที่คอยเป็นแรงผลักดัน เขาคงไม่สามารถทำงานต่าง ๆ ได้อย่างภาคภูมิใจและประสบความสำเร็จ
เกียรติยศอันทรงเกียรติ
ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ทางานในกรมชลประทาน พิเชษฐในวัย 51 ปี มองย้อนกลับไปในอดีตพบว่า เส้นทางของเขามาไกลเกินฝัน ด้วยตำแหน่งปัจจุบันที่เป็นถึง ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม ข้าราชการระดับสูงและด้วยความขยันหมั่นเพียรชื่อตรง ต่อการปฏิบัติงานทำให้เขาได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือน ดีเด่น พ.ศ. 2562 ระดับกรมชลประทาน โดยช่วงที่ได้รับ เขายังอยู่ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านการออกแบบและคำนวณ) ประจำสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม สายงานวิชาการ รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติแก่ตนเองและครอบครัว
ท้ายที่สุดนี้ พิเชษฐกล่าวว่าเขายังเหลือเวลาอีก 9 ปี ก่อนเกษียณอายุราชการ อาจเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน แต่ยืนยันว่าจนกว่าจะถึงวันนั้น เขาจะปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับรางวัลที่ได้รับ จะปฏิบัติหน้าที่ วางนโยบาย ให้คำปรึกษาด้านวิชาการ ต้านออกแบบในการสร้างเขื่อนและส่วนประกอบอื่น ๆ และงานต่างๆ ให้สมกับตำแหน่งงานที่ได้รับความไว้วางใจและจะไม่เพียงแค่ทำงานให้ได้ตามมาตรฐานแต่จะทำให้ดียิ่งขึ้นตลอดไปอีกด้วย