อมรเทพ แสงศิริ ช่างฝีมือโรงงาน ช 3 ฟันเฟืองสำคัญของงานช่าง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา แม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล


บุคคลชลประทานฉบับนี้ จะพาไปรู้จักกับลูกผู้ชายคนหนึ่งที่เกิดมาในครอบครัวเกษตรกรซึ่งมีรายได้เพียงหยิบมือ เป็นคนที่แม้จะไม่มีประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง แต่ก็ไม่เคยดูถูกดูแคลนตนเองว่าความรู้น้อย ไม่เคยบ่นว่าท้อแท้สิ้นหวัง ในยามเหน็ดเหนื่อย ชายคนนี้ชื่อ นายอมรเทพ แสงศิริ ช่างฝีมือโรงงาน ช 3 จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา แม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล คนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งซึ่งเป็นตัวชี้วัดฐานะทางสังคม แต่กลับให้ความสำคัญ กับหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นที่สุด

 

 

ทุ่งนาหนองแขม

อมรเทพ เล่าให้ฟังว่า เขาเกิดเมื่อ พ.ศ. 2504 พื้นเพเดิม เป็นคนเขตหนองแขม จังหวัดกรุงเทพมหานคร จบการศึกษา : ระดับสูงสุด ประกาศนียบัตรวิชาชีพ วุฒิการศึกษา (ปวช.) สาขาช่างยนต์ จากสถาบันเทคโนโลยีหมู่บ้านครู เมื่อ พ.ศ. 2524 ส่วนคุณพ่อและคุณแม่ประกอบอาชีพ ทำนาหาเลี้ยงเขาและพี่สาว

“สมัยก่อนพื้นที่หนองแขมเป็นชานเมือง ส่วนใหญ่ เป็นท้องไร่ท้องนา แต่ภายหลังสังคมเมืองเจริญเติบโต ไร่น่าจึงเริ่มหายไป”

 

 

ค้นหาตนเองที่จังหวัดเชียงใหม่

ภายหลังจากจบการศึกษา แม้ความรู้ไม่สูง แต่อมรเทพ ก็ไม่เคยตัดพ้อ ขวนขวายพยายามหางานที่เหมาะสม กับตนเองในเมืองหลวงอยู่หลายปีก็ไม่พบ จึงได้ตัดสินใจขอครอบครัวเดินทางไปค้นหาตนเองและหางานทำที่จังหวัดเชียงใหม่ และแล้วในระหว่างทริป ที่เหมือนโชคชะตาที่เป็นใจให้เขาได้รู้จักกับงานชลประทาน เมื่อมีประกาศเปิดรับสมัครพนักงานช่างดูแลอ่างเก็บน้ำ แม่จอกหลวง ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2527

“พอผมเห็นป้ายประกาศ ก็ตัดสินใจสมัครเข้าทำงานชลประทานทันที โดยตอนนั้นเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ 2 ปี กระทั่ง พ.ศ. 2529 ทางสำนักงาน ชลประทานที่ 1 เปิดสอบลูกจ้างประจำ ผมจึงสมัคร และได้ตำแหน่งเป็นผู้รักษาอาคารชลประทานบรรจุอยู่ที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2529 มาจนถึงปัจจุบัน”

 

 

ทำหน้าที่ให้สมกับตำแหน่ง

บรรจุเป็นลูกจ้างประจำได้ 3 เดือน อมรเทพซึ่งมีความรู้และความชำนาญด้านซ่อมบำรุงอยู่แล้วนอกเหนือจากหน้าที่พนักงานผู้รักษาอาคาร หลายครั้งที่ได้เข้าไปช่วยเหลือด้านซ่อมบำรุงเครื่องจักรเครื่องกล จนเป็นที่ต้องตาของหัวหน้างาน ที่เห็นว่ามีฝีมือควรไปสอบเป็นตำแหน่งช่างฝีมือโรงงาน ช 1 และไต่เต้าตำแหน่งขึ้นเรื่อย ๆ ตามความสามารถซึ่งนอกจากจะได้รับเงินค่าจ้างที่สูงขึ้นแล้ว เขายังจะได้ทำหน้าที่ที่สมกับความรู้ ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า

“ตอนเข้ามาเป็นช่างฝีมือโรงงาน ช 1 ผมเห็นว่า เป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาฝีมือช่างของตนเอง ซึ่งดีใจมาก หัวหน้าที่ดูแลเราให้ไปซ่อมแซมอะไรที่ไหนก็ทำ ทั้งซ่อมแซมบานประตูระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา หรือซ่อมแซมรถยนต์ก็ทำทั้งหมด”

อมรเทพ เล่าว่า ปัจจุบันในวัย 59 ปี จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2564 เขามีตำแหน่งเป็น ช่างฝีมือ ช 3 ซึ่ง อมรเทพ เปิดใจว่า “ตำแหน่งจะสูง หรือต่ำนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าเราได้ทำหน้าที่ให้สมกับ ตำแหน่งของเรารึยัง” ซึ่งคำพูดนี้จะเป็นคำพูดลอยๆ หากเราไม่ได้สัมผัสผลงานเด่น ๆ ของเขาตลอด 35 ปี ตั้งแต่บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ

ผลงานที่อมรเทพภูมิใจนำเสนอชิ้นแรก คือ งานตรวจวัดข้อมูลทางอุทกวิทยา เช่น การปฏิบัติงาน วัดปริมาณน้ำฝนรายวัน ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ ค่าการระเหยของน้ำ ตลอดจนการวัดปริมาณการไหลและสอบเทียบ อาคารชลประทานต่าง ๆ ที่แม้จะมองดูเผิน ๆ อาจจะเป็นงานประจำปกติ แต่ความสำคัญนั้นกลับมีมาก เพราะข้อมูลทั้งหมดที่บันทึกจะถูกส่งไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1 เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ ปริมาณน้ำ เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่งอมรเทพ ปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นประจำทุกวันตลอด 35 ปี ที่ผ่านมาอย่างไม่เคยหยุดพัก

ผลงานชิ้นต่อมา คือ การเป็นผู้เชี่ยวชาญการควบคุม – และตรวจเช็กการทำงานของอาคาร River Outlet ประตูน้ำแรงดันสูง (High pressure Gale) โดยปัจจุบัน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ในการควบคุมเครื่องกลชิ้นนี้ ได้เกษียณอายุราชการไปหมดแล้ว ซึ่งอมรเทพได้รับอาสาและพร้อมจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ พนักงานรุ่นน้องด้วยความเต็มใจและตั้งใจเพื่อประโยชน์ แก่การปฏิบัติงานในภายภาคหน้า

 

 

รางวัลลูกจ้างประจำดีเด่นกรมชลประทาน

จาก 2 ผลงานข้างต้น ทำให้อมรเทพเป็นที่จับตามอง ของหัวหน้างานอย่าง นายณัฐพล อภินันทโน หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน แนะนำให้เข้าประกวดจนได้รับรางวัลลูกจ้างประจำดีเด่นกรมชลประทาน ประจำปี พ.ศ. 2562 ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของเขาในการรับราชการ

“ผมภาคภูมิใจกับรางวัลนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมามันหายเหนื่อย”
นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 อมรเทพยังเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานที่เข้าไป ประสานงานกับราษฎรที่มีบ้านอยู่ริมน้ำได้คอยเฝ้าระวัง การระบายน้ำตลอดทั้งวันทั้งคืนโตยสลับผลัดเปลี่ยนอยู่นานร่วมเดือน กระทั่งผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวมาได้
ต่อมาใน พ.ศ. 2558-2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลา ที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง อมรเทพ ก็ได้ร่วมเป็นเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดประชุมตามหมู่บ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำและการรณรงค์ให้พี่น้องเกษตรกรร่วมประหยัดน้ำ จะพบว่าเหตุการณ์นั้นไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง อมรเทพ ก็ยังคงปฏิบัติงานของเขาด้วยความมุ่งมั่นเสมอ

ปัจจุบันอมรเทพในวัย 59 ปี แม้จะเป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นเล็ก ๆ ของกรมชลประทานมาตลอด 35 ปี เขาก็ไม่ลืมที่จะฝากข้อคิดที่ดีไปสู่รุ่นน้องทุกคนที่ยังคง ต้องปฏิบัติงานของตนเองอีกหลายปีว่า

“การทำงานทุกงานนั้นก็มีอุปสรรคด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าถ้าเรามีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่น ก็สามารถ ผ่านอุปสรรคนั้นไปได้ เมื่อเราผ่านตรงนั้นไปได้แล้วก็จะเกิดความภูมิใจ ก็อยากจะให้รุ่นน้อง ๆ รุ่นหลัง ๆ ได้ศึกษา มุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน ทำหน้าที่ที่เรา รับผิดชอบให้ดีที่สุด” อมรเทพ ทิ้งท้าย