สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนกรกฎาคม 64 ปรับลดลงในทุกภูมิภาค ค่าดัชนีฯ ต่ำที่สุดในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล


นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ที่ระดับ 32.6 มาอยู่ที่ระดับ 30.1 โดยมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จากปัญหาวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกำลังซื้อภายในประเทศ อีกทั้งข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจตามมาตรการควบคุมโรคทำให้ธุรกิจบางส่วนต้องปิดตัวลงชั่วคราว ส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ลดลงอย่างมาก องค์ประกอบดัชนีฯ ลดลงเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต การค้าและบริการ การลงทุน และกำไร ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 18.5 21.2 30.3 และ 16.5 ตามลำดับ ส่วนองค์ประกอบด้านการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว อยู่ที่ระดับ 39.9 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคการบริการ ในเดือนนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 30.3 33.5 และ 27.4 ตามลำดับ

 

 

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ปรับลดลงในทุกภูมิภาค ได้แก่ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ 26.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 30.3 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลงไปต่ำสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่สูงที่สุด อีกทั้งพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจการหรือมีการปรับระยะเวลาการเปิด-ปิด กิจการบางประเภทต้องปิดเป็นการชั่วคราวตามมาตรการควบคุมโรค ส่งผลให้รายได้ของกิจการลดลง อีกทั้งต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในช่วงปิดกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ 28.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 30.3 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มากขึ้น ส่งผลให้บางจังหวัดถูกยกระดับเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในขณะที่บางจังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด การจำกัดหรืองดเว้นการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามมาตรการป้องกันโรค ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างมาก ประชาชนในพื้นที่มีความเปราะบางด้านรายได้ แรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้าง บางส่วนถูกลดชั่วโมงการทำงาน ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 30.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 32.6 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบการหลายแห่ง ทำให้บางจังหวัด ถูกยกระดับเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก สถานประกอบการบางแห่งต้องปิดกิจการ ในขณะที่บางแห่งต้องหยุดให้บริการเป็นการชั่วคราวเพื่อลดต้นทุนของกิจการ

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ 27.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 28.3 จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องที่พึ่งพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่กลับมารุนแรงอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม นำมาซึ่งมาตรการควบคุมการเดินทางภายในประเทศ ส่งผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทำให้ธุรกิจในพื้นที่หลายแห่งไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 35.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 38.8 จากการยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในภาคใต้ส่งผลให้ขาดกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว และยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ อีกทั้งการใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่ชะลอตัวลงตามรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้บางกิจการต้องปิดตัวลงเป็นการชั่วคราว เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลง รวมถึงไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนการดำเนินกิจการที่ค่อนข้างสูงได้

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 33.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ 35.8 จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด ประกอบกับการเดินทางกลับภูมิลำเนาของแรงงานจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่งผลให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น และแนวโน้มรุนแรงกว่าสถานการณ์ การแพร่ระบาดในรอบก่อนหน้า ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ลดการใช้จ่าย นอกจากนี้มาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างจังหวัดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายสาขาชะลอตัวลงอย่างมาก

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 41.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 39.8 การคาดการณ์แนวโน้มความเชื่อมั่นฯ ยังคงปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ เมื่อเทียบกับปัจจุบันได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายในระดับที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวนับเป็นภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก การฟื้นตัวอาจล่าช้ากว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ

ส่วนปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ประเทศในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อ 2. ด้านต้นทุน 3. ด้านหนี้สินกิจการ 4. ด้านการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน และ 5. ด้านคู่แข่งขัน

………………………………..

หมายเหตุ
ก. สสว.จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME จาก 6 องค์ประกอบ ได้แก่ คำสั่งซื้อ การผลิต การลงทุน ต้นทุน กำไร และการจ้างงาน โดยให้น้ำหนักเท่ากันทุกองค์ประกอบ และแปรผกผันสำหรับต้นทุน
ข. การอ่านค่าดัชนี SMESI
ดัชนี > 50 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ “ดีขึ้น” จากเดือนก่อนหน้า
ดัชนี = 50 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ “ทรงตัว” จากเดือนก่อนหน้า
ดัชนี < 50 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ “ลดลง” จากเดือนก่อนหน้า
ค. ดัชนี SMESI เดือนกรกฎาคม 2564 ประมวลจากการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 9-20 กรกฎาคม 2564 จากผู้ประกอบการรายย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง จำนวน 2,716 ราย และเก็บข้อมูลจาก 26 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค (กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตะวันออกเฉียงเหนือ เหนือ ใต้ กลาง และตะวันออก)