เคยสงสัยหรือไม่ว่าเหตุใด การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานจึงเป็นไป ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้และฟันฝ่าวิกฤตมาได้ทุกครั้ง คอลัมน์บุคคลชลประทานฉบับนี้ขอพาไปทำความรู้จักกับประวัติส่วนตัวและเส้นทางการทำงานของ นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา บุคคลสำคัญที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทำงานภาคเช้า เรียนภาคค่ำ เพื่อคว้าใบปริญญา
ธีระพล เล่าว่า เดิมตนเป็นคนพื้นเพ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เติบโตมาจากครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนด้านการศึกษานั้น ได้ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนนาคประสิทธิ์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนมัธยม วัดเบญจมบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ก็ได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนการชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นนักเรียน การชลประทาน รุ่นที่ 35 เมื่อ พ.ศ. 2522 และได้ชื่อฉายาที่รุ่นพี่ตั้งให้ตามประเพณีนิยมที่สืบทอดต่อกันมาว่า “ใบ 35”
ภายหลังจากศึกษาจบหลักสูตร 3 ปีครึ่งจากโรงเรียนการชลประทาน ในระดับประกาศนียบัตร เมื่อ พ.ศ. 2525 ธีระพล ได้เข้ารับราชการในสังกัดกรมชลประทาน ตำแหน่งนายช่างโยธา 2 งานเกษตรชลประทาน กองจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา (สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาในปัจจุบัน) ปฏิบัติหน้าที่วางแผนศึกษา ค้นคว้า วิจัยหาค่าความต้องการใช้น้ำของพืชและระบบวิธีการชลประทานในระดับไร่นา เพื่อให้โครงการชลประทานนำผลที่ได้ไปใช้วางแผนจัดสรรน้ำ การส่งน้ำที่เหมาะสมเกิดประสิทธิภาพให้กับเกษตรกร แต่ระหว่างนั้นก็ยังหาเวลาเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทเวศร์ สาขาวิศวกรรมโยธา (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในปัจจุบัน) เรียกว่า ช่วงเช้าต้องทำงาน ภาคค่ำตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพื่อคว้าปริญญาตรีมาให้กับตนเอง
ปัจจัยที่ทำให้ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น
พ.ศ. 2530 จากนายช่างโยธา 2 ธีระพล มีตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นวิศวกรชลประทาน ซึ่งในตำแหน่งนี้แม้จะมีลักษณะงานไม่ต่างกับการเป็นนายช่างเท่าไหร่นัก แต่วิศวกรชลประทานจะสามารถเป็นหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัย ได้ริเริ่ม แนวทางและแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งทำให้เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ที่มีอย่างเต็มที่
“ในตำแหน่งนี้ผมได้คิดค้นโครงการวิจัยต่างๆ เช่น วิธีให้น้ำแบบประหยัด เหมาะสมกับความต้องการของพืชเศรษฐกิจในเขตชลประทานเป็นข้อมูล สำหรับการวางแผนการส่งน้ำของเจ้าหน้าที่ชลประทาน เพื่อให้พืชได้รับน้ำอย่างพอดีเป็นประโยชน์ในเรื่องของการประหยัดน้ำต้นทุนและน้ำเพื่อการเพาะปลูก”
หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2545 ถึงแม้ ธีระพล จะได้เลื่อนระดับเป็นวิศวกร ชลประทานชำนาญการพิเศษแล้ว แต่ก็ยังคงทำงานวิจัยอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงเป็นงานที่ท้าทายและเป็นการพัฒนาระบบงานชลประทานในระดับแปลงนาให้ดียิ่งขึ้นจนกระทั่ง พ.ศ. 2557 ได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ ก็ได้มีโอกาสนำความรู้ที่สะสมมาไปขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมในระดับแปลงนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำชลประทาน เป็นต้น จนกระทั่งใน ปลาย พ.ศ. 2559 ผู้บริหารระดับสูงได้มองเห็นถึงความรู้ความสามารถ จึงได้มอบหมายภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มากมาย พร้อมกับส่งเสริมให้มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 11) จนกระทั่งในปลาย พ.ศ. 2561 จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาในปัจจุบัน
การสร้างผลงานระดับนานาชาติ
จะเห็นว่าตำแหน่งหน้าที่การงานที่ขยับสูงขึ้นของธีระพลนั้น มาจากการสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่น ช่วงพ.ศ.2558-2559 แม้เป็นปีที่แล้งมาก แต่ธีระพลกลับเห็นวิกฤตดังกล่าวเป็นโอกาสดีที่จะนำเอาแนวทางการทำนาแบบประหยัดน้ำหรือการทำนาแบบใช้น้ำน้อยที่ใช้กันจนประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศมาส่งเสริมให้เกิดเป็นรูปธรรม จึงได้ริเริ่มโครงการสาธิตการทำนาแบบใช้น้ำน้อย หรือเรียกอีกอย่างว่าการทำนาแบบเปียกสลับ แห้งขึ้นเป็นแปลงต้นแบบเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรเข้าศึกษา ดูงาน และ นำไปปฏิบัติให้เกิดผล รวมถึงทำข่าว ประชาสัมพันธ์ไปทั่วประเทศ ปัจจุบันแนวคิดนี้จึงเริ่มแพร่หลาย สามารถแก้ไขปัญหาน้ำต้นทุนมีน้อย สามารถลดต้นทุน เกษตรกรก็ตอบรับและนำวิธีนี้ ไปใช้และได้ผลผลิตที่ดี
“ในปีเดียวกัน ในนามของคณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศ ในนาข้าว (INWEPE Thai) ตัวแทนของกรมชลประทาน ได้รับรางวัล WatSave Awards 2016 จาก International Commission on Irrigation and Drainage หรือ ICID จากผลงานการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง นับเป็นความภาคภูมิใจของ ประเทศไทยเป็นอย่างมาก”
รางวัลข้าราชการดีเด่น เกียรติยศที่ผลิดอกออกผล
ในปี 2546 ธีระพลซึ่งรับราชการมานานกว่า 39 ปี ด้วยประสบการณ์ความรักเอาใจใส่ในงานทำให้ตระหนักอยู่เสมอว่างานที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายนั้นเป็นงานที่ท่านไว้ใจ ด้วยความที่ไม่เคยปฏิเสธต่องานที่ได้รับมอบหมายเลย แม้เพียงสักครั้ง ในที่สุดเขาจึงได้รับเลือกให้เป็นข้าราชการที่เด่น ประจำปี 2563 ของกรมชลประทาน ที่สำคัญได้รับเกียรติเป็นข้าราชการดีเด่นระดับประเทศ นับว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดในชีวิตราชการและเชิดหน้าชูตาวงศ์ตระกูลยิ่งเปรียบเสมือนการรดน้ำพรวนดินให้กับพืชมาตลอด สุดท้ายแล้วต้นทุนการผลิตที่มีทั้งเวลาและหยาดเหงื่อจึงได้ผลิดอกออกผลสวยงามให้เห็น
“รางวัลข้าราชการดีเด่น เป็นขวัญกำลังใจที่ดีมากสำหรับข้าราชการเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้วงศ์ตระกูล”
แม้วันนี้ ธีระพลในวัย 60 ปี ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในปลายเดือนกันยายน 2564 ที่จะถึงนี้ แต่ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทานอย่างสุดความสามารถ เต็มกำลังเพื่อให้การดำเนินงานด้านบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานมีความครบถ้วน ในเรื่องข้อมูล รวดเร็ว ถูกต้อง และตรงเป้า มีประสิทธิภาพ สมกับความเป็นหนึ่งด้านน้ำและความเป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
ในช่วงท้ายของบทสนทนา ธีระพลมีความรู้สึก 2 สิ่งที่อยากจะขอฝากไว้ ทั้งในสถานะของคนเป็นพี่และในสถานะของลูกหลานชลประทาน “ในสถานะของคนเป็นพี่ ผมอยากจะฝากถึงน้องๆ ข้าราชการทุกคนให้ตระหนักรู้เสมอว่า ‘ข้าราชการนั้น เป็นอาชีพที่มีเกียรติ’ เพราะเราไม่ได้เป็นข้าราชการในเฉพาะเวลาทำงาน แต่จะติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง มุ่งมั่นทำงานที่รับผิดชอบให้เต็มที่อย่างสุดกำลัง อย่าวิ่งหนีงาน ศึกษา เรียนรู้เพื่อให้ตนเองมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น สิ่งนี้นับเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้เติบโตในอาชีพข้าราชการและเป็นที่ไว้วางใจแก่ผู้บังคับบัญชา
ในสถานะลูกหลานชลประทาน ธีระพลสำนึกรักและภาคภูมิใจในความเป็นส่วนหนึ่ง ของกรมชลประทาน “ขอขอบคุณกรมชลประทาน ซึ่งให้ที่อยู่ที่กินให้มีอาชีพมีเงินเดือน เพื่อที่จะได้ใช้เลี้ยงดูแลตนเองและครอบครัว เพื่อนพ้องน้องพี่ ให้โอกาสประสิทธิ์ประสาทความรู้และประสบการณ์นำมาซึ่งความภาคภูมิใจตราบชีวิตจะหาไม่” ทุกวันนี้ที่ตั้งใจทำงานก็เพื่อให้กรมชลประทานมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ด้าน สิ่งหนึ่งที่จะมอบให้แก่กรมชลประทานเพื่อเป็นการทดแทนคุณนั้นก็คือ ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับ แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งก็ตาม และท้ายที่สุด ขอให้กรมชลประทานอยู่คู่กับพี่น้องเกษตรกรและประเทศไทยตลอดไป