มธ.จับมือ “BIPA” จากปูซาน เกาหลีใต้ ร่วมให้การสนับสนุนการพัฒนาวิทยาเขตใหม่แห่งที่ 5 “Thammasat Metaverse Campus” บนโลกเสมือนจริง เตรียมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้-ให้เงินทุนสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี “เมตาเวิร์ส” สู่แพลตฟอร์มการเรียนรู้รูปแบบใหม่แห่งยุคอนาคต คาดอีก 3 เดือนเริ่มเปิดใช้งานจริงได้
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดทำพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ Busan IT Industry Promotion Agency (BIPA) หรือหน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมไอทีแห่งปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือส่วนหนึ่งของการต่อยอดการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ยุคใหม่บนโลกเสมือนจริง ให้กับนักศึกษาและสาธารณชน ภายใต้โครงการ Thammasat Metaverse ณ ตึกคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มธ. เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นปี 2565 มธ.ได้ทำการเปิดตัววิทยาเขตแห่งที่ 5 บนโลกเสมือนจริง ที่เรียกว่า “Thammasat Metaverse Campus” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลกในขณะนี้อย่าง “เมตาเวิร์ส” มาพัฒนาเพื่อสร้างแพลตฟอร์มของการเชื่อมต่อการศึกษา การทำธุรกิจ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่จะเปิดกว้างให้กับนักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการ ตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของ มธ. ในการเป็นมหาวิทยาลัยเปิดให้กับทุกคนมาเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 88 ปีที่แล้ว
รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวว่า ภายใต้วิทยาเขตใหม่ในโลกเมตาเวิร์สนี้ ได้มีการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ในด้านต่างๆ ได้แก่
1. Immersive Learning Classrooms การยกระดับประสบการณ์การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่ก้าวล้ำกว่าการเรียนออนไลน์เดิม หรือแม้แต่การเรียนในห้องเรียน
2. VR Museum of History, Culture
and Democracy พื้นที่พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประชาธิปไตย ที่ มธ. มีมาอย่างยาวนาน ผ่านการใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง หรือ Virtual Reality (VR)
3. Next Generation Omnichannel Marketplace พื้นที่ตลาดออนไลน์ในการค้าขายและเลือกซื้อสินค้า พร้อมด้วยช่องทางการชำระเงินที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ 4. 88 Sandbox Spaces โครงการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษารวมถึงผู้คนทั่วไปได้เข้ามานำเสนองาน (Pitching) ตลอดจนประชุม และพบปะร่วมกันกับบรรดาที่ปรึกษา (Mentor) และล่าสุดที่เตรียมเพิ่มเข้ามาใหม่คือ 5. Metaverse Health Center โรงพยาบาลที่จะเปิดให้บริการด้านสุขภาพบนโลกเสมือนจริง
รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการพัฒนา Thammasat Metaverse Campus ที่ตั้งอยู่บนแพลตฟอร์ม T-Verse จนถึงขณะนี้ได้มีการออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมของส่วนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัย การยืนยันตัวตนต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดใช้งานสู่สาธารณะได้จริงในช่วงราว 3 เดือนข้างหน้า โดยในส่วนของความร่วมมือกับ BIPA นั้นจะเข้ามาช่วยขยายศักยภาพ สนับสนุนองค์ความรู้ ตลอดจนเงินทุนเพื่อต่อยอดการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ต่อไป
“ช่วงเวลาหลายปีที่เราต่างเผชิญกับผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ระบบการเรียนการสอนก็ต้องปรับไปสู่รูปแบบออนไลน์ 100% ทำให้คนขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งเมตาเวิร์สกำลังจะเข้ามาพลิกประสบการณ์การเรียนการสอนขึ้นไปอีกระดับ ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ พบปะกันในโลกเสมือนจริงนี้ได้ และ มธ. เองก็กำลังเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกๆ ที่พัฒนาใช้งานเมตาเวิร์สอย่างเต็มรูปแบบ ทาง BIPA เองจึงให้ความสนใจ และเตรียมที่จะเข้ามามีความร่วมมือเพื่อหนุนเสริมศักยภาพระหว่างกัน” รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าว
ด้าน Mr.Munseob Jeong ประธานของ BIPA กล่าวว่า ทาง BIPA เป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางด้านไอที เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่นเดียวกับโครงการเกี่ยวกับเมตาเวิร์ส ซึ่งกำลังเป็นทิศทางใหม่ของโลกอนาคต โดยทาง BIPA จะให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ให้กับโครงการพัฒนาเมตาเวิร์สที่มีศักยภาพ อย่างเช่นของ มธ. ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาอยู่ในขณะนี้
“เราหวังว่าความร่วมมือนี้จะเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านเมตาเวิร์สร่วมกัน ระหว่างเกาหลีใต้กับไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ เนื้อหา ไปจนถึงเงินทุน ที่เชื่อว่าจะเป็นการเปิดกว้างให้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สในภูมิภาคนี้เติบโตต่อไปในอนาคต” Mr.Munseob กล่าว