สคช. เปิดมุมมองใหม่บนโลกการทำงานให้ก้าวทันดิจิทัล พร้อมพัฒนาศักยภาพกำลังคน ด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ


 

นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดงานโครงการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ยกระดับทักษะองค์กรและบุคลากรให้ก้าวหน้าทันกับโลกดิจิทัล” Uplift Corporate and Human Resources Skills in the Digital Era ณ สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล นิคมอุตสาหกรรมอมตะชิตี้ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร สมาคมดิจิทัลเพื่อการศึกษาไทย สถาบันไทย-เยอรมัน บริษัทสุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย จัดขึ้นเพื่อให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม และ Digital Disruption ที่ส่งผลต่อการพัฒนาบุคลากร การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้ในสถานประกอบการ การใช้งานระบบฝึกอบรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Training เพื่อช่วยพัฒนาสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ท่ามกลางผู้บริหารและตัวแทนจากสถานประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม จำนวน 33 แห่ง

 

นางสาวจุลลดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา สคช. ได้มีการทำงานเพื่อรองรับวิกฤต และความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี อาทิ การจัดทำมาตรฐานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล การพัฒนาช่องทางการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรออนไลน์ การทำระบบแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้ในสถานประกอบการ ด้วยความเชื่อมั่นว่าสถานประกอบการทุกแห่งมีบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ทำงาน แต่ขาดโอกาสทางการศึกษา ดังนั้นการส่งเสริมให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ จะช่วยสร้างโอกาส สร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และสร้างรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น

นางสาวจุลลดา กล่าวต่อว่า สคช. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการบริหารจัดการกำลังคนอย่างเป็นระบบผ่าน E-Workforce Ecosystem Platform หรือ EWE ภายใต้ความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลด้านกำลังคนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 50 หน่วยงาน พร้อมผลักดันและสนับสนุนกำลังแรงงานในประเทศ โดยเฉพาะ สคช. ได้มีการพัฒนาแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Portfolio ให้บุคคลทั่วไป องค์กร หรือสถานประกอบการ เก็บประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ข้อมูลประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรม การพัฒนาทักษะ และข้อมูลคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีการบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ใช้งานสามารถเปิดเผยข้อมูลที่ต้องการแสดง และจัดทำเป็นโปรไฟล์ส่วนตัวได้ เปิดโอกาสให้สถานประกอบการ และนายจ้าง ที่ต้องการคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถพิจารณาจากประวัติต่างๆ ที่ฝากไว้ในระบบ E-Portfolio ได้ พร้อมกันนี้ ยังส่งเสริมให้มีการเก็บสะสมหน่วยสมรรถนะใน Digital Competency Bank เพื่อรับหนังสือรับรองสมรรถนะ และการได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ระบบแนะแนวอาชีพและเพื่อค้นหาทักษะที่เหมาะสม การพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล และระบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ตลอดตลอดชีวิต รวมถึงการสร้างระบบ Job Matching เพื่อให้ผู้ประกอบการได้แรงงานมีคุณภาพ มีทักษะฝีมือตรงตามความต้องการของสถานประกอบการต่อไป

 

 

นอกจากนี้นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ให้ข้อมูลเกี่บวกับ ระบบนวัตกรรมการเรียนรู้สมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพอิเล็กทรอนิกส์ (TPQI E-Training) ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนากำลังคนด้วย SMEs ว่าช่วยพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้สามารถใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพและการยกระดับทักษะของกำลังคนของผู้ประกอบอาชีพ ซึ่งนับว่ามีความจำเป็น เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการ ให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตได้