สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ตั้งเป้า ม.กาฬสินธุ์ เป็นสถานศึกษาต้นแบบ ในการพัฒนาผู้ประกอบอาชีพในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ


สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ตั้งเป้า ม.กาฬสินธุ์ เป็นสถานศึกษาต้นแบบ ในการพัฒนาผู้ประกอบอาชีพในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

 

 

นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มอบหมายให้ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ประชุมร่วมกับ รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.วิชยุทธ จันทะรี รองอธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา และกำลังคนในท้องถิ่น ด้วยการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เตรียมผลักดันเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ และศูนย์ฝึกอบรม เพื่อเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัย ที่ยกระดับท้องถิ่นด้วยมาตรฐานอาชีพ ตามแนวคิดการเพิ่มคุณค่าพลเมืองท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืน

 

 

นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อม ในการเป็นต้นแบบของการเชื่อมโลกของการศึกษา กับโลกของอาชีพเข้าด้วยกัน อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการได้รับการส่งเสริมจากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และบริบทของพื้นที่ ที่มีความหลากหลายทางอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และการท่องเที่ยว ประกอบกับความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น นำไปสู่พัฒนากำลังคนในอาชีพ ด้วยมาตรฐานอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากคุณวุฒิวิชาชีพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในพื้นที่ เพิ่มรายได้ให้เศรษฐกิจฐานรากในชุมชนให้มีความเข้มแข็งขึ้นด้วย

 

 

ผศ.ดร.วิชยุทธ กล่าวว่า ม.กาฬสินธุ์ จะเดินหน้าขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ พร้อมบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ พร้อมผลักดันนักศึกษา ที่ผ่านหลักสูตรจากมหาวิทยาลัย ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพไปพร้อมกัน เพื่อเป็นการยืนยันว่า จะสามารถทำงานในสถานประกอบการ และประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ทั้งนี้จะเริ่มนำร่อง 1 คณะ 1 หลักสูตรเพื่อเป็นต้นแบบการเทียบเคียงหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ก่อนขยายไปใช้กับหลักสูตรการเรียนการสอนในหลักสูตรอื่นๆ ต่อไป

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้มีร่วมมือ กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทยภายใต้ระบบ E-Workforce Ecosystem Platform เพื่อแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่สามารถแสดงให้เห็น ภาพรวมของกำลังแรงงาน หรือ Labor Market Information อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านแรงงานของประเทศไทย พร้อมผลักดันนักศึกษาและบุคลากร เข้าใช้งานระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-Portfolio) เพื่อเพิ่มช่องทาง สร้างโอกาส ในการหางานทำให้กับนักศึกษาได้อย่างมีระบบ