สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ดึง สมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย ร่วมขับเคลื่อนไทยเป็น Medical Travel Hub สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมูลค่าสูง


สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ดึง สมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย ร่วมขับเคลื่อนไทยเป็น Medical Travel Hub สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมูลค่าสูง หนุนเป็นผู้นำ Soft Power โลก

 

 

นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานการลงนามความร่วมมือระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย โดยมีนางสาวจุลลดา มีจุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบัน และนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนามความร่วมมือ เพื่อขยายผลความร่วมมือในการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับการประกอบอาชีพของประชาชนไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าวจัดขึ้นภายในงาน “GHA x TPQI International Seminar : สานพลังสร้าง Medical Travel Hub สู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง” ซึ่งจัดโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับ Global Healthcare Accreditation (GHA) และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

นายนคร ระบุถึงความร่วมมือกับสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย ว่าเป็นการร่วมกันยกระดับการประกอบอาชีพให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยขับเคลื่อนผ่าน อบจ.ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งเป็นผู้มีจิตสาธารณะในการดูแลประชาชน ควรมีโอกาสได้รับการพัฒนายกระดับความรู้เชิงการแพทย์ในการให้บริการด้วย เพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ หรือ Medical Travel Hub ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนการเป็นผู้นำด้าน Soft Power ของโลกตามแนวนโยบายรัฐบาล

 

 

ด้านนางสาวจุลลดา ระบุว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Wellness and Medical Tourism) จะเป็นช่องทางสำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงได้ และท้องถิ่น ชุมชน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวไปถึงจุดหมายนั้น โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ครบทุกมิติทั้งด้านความเป็นอยู่ การศึกษา และสุขภาพ ความร่วมมือครั้งนี้จึงจะต่อยอดพัฒนาประชาชนในทุกมิติได้เช่นกัน หลังจากนี้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีแผนขับเคลื่อนร่วมกับ อบจ. ทุกแห่งส่งเสริมให้เกิดการนำมาตรฐานอาชีพที่เกี่ยวข้อง ไปพัฒนาผู้ประกอบอาชีพในท้องถิ่น ให้สอดคล้องความต้องการตามบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป เนื่องจากการให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพแก่คนในท้องถิ่น เป็นเสมือนการพัฒนาและยกระดับคุณภาพกำลังคนในการทำงาน ไม่เพียงเท่านั้นสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ และผู้สูงอายุส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ การมีช่องทางในการพัฒนาหรือส่งเสริมการประกอบอาชีพใหม่ให้คนเหล่านี้ จะช่วยแก้ปัญหาภาระในครัวเรือน ลดภาระการใช้จ่ายงบประมาณ แต่สามารถเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้สูงวัยเหล่านั้นด้วย

 

 

นายบุญชู กล่าวย้ำในนามของผู้ดูแลสุขภาพประชาชนที่มีเจตนารมณ์ขับเคลื่อนให้รัฐบาลมีนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จนกระทั่งถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้อยู่ในความดูแลของ อบจ. โดยมีจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่นำร่องนั้น เชื่อว่าความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ มีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะกลุ่ม อสม. ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้อื่น ก็ควรอยู่ในฐานะผู้ที่ได้รับการดูแลด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะส่งเสริมอาชีพ หรือพัฒนาให้เขาเหล่านั้นสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีมาตรฐาน จนนำไปสู่การยกระดับค่าตอบแทนให้สูงขึ้น เมื่อคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้น ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้การขับเคลื่อนตามแนวนโยบายรัฐบาลแข็งแรงในทุกด้านเช่นกัน

 

 

ทั้งนี้ในงานยังได้มีการสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ภายใต้แนวทางการมุ่งการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ด้วยการขับเคลื่อนสถานประกอบการในธุรกิจสถานพยาบาล โรงแรม และธุรกิจบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นำระบบคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้ประโยชน์ในการฝึกอบรมและพัฒนากำลังแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งมีโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นต้นแบบในการนำมาตรฐานอาชีพไปใช้พัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ ทั้งนี้การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร สาขาการให้บริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ อาชีพนักบริหารการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Travel Facilitator) เป็นการประยุกต์นำมาตรฐานของ GHA ที่ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการบริการสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเพื่อการรักษาพยาบาล (Medical Travel) ที่ได้รับการยอมรับจาก World Medical Association ว่าเป็นมาตรฐานที่จำเพาะเจาะจงต่อผู้ป่วยที่เดินทางเพื่อการรักษาพยาบาล และไม่ได้มีเพียงการดูแลผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการต้อนรับ การบริการผู้ป่วย รวมไปถึงช่วยพัฒนาธุรกิจการให้บริการผู้ป่วยอย่างยั่งยืน จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนมูลค่าสูงให้กับประเทศต่อไปได้