“เพราะชีวิตไม่ได้เป็นเส้นตรง” จากเด็กแสบมาเป็น วิศวกรนักพัฒนา กีรติ ปกินนกะ ผู้รังสรรค์งานออกแบบในรั้วชลประทาน


“เพราะชีวิตไม่ได้เป็นเส้นตรง” กีรติ ปกินนกะ ผู้อำนวยการส่วนออกแบบโครงสร้างพิเศษ ผู้รังสรรค์งานออกแบบในรั้วชลประทาน

ในหลายๆ ครั้งที่อนาคตของเด็กมักถูกตัดสินจากผู้ใหญ่โดยมองจากผลการเรียนเป็นหลัก ใครเรียนดีก็จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ส่วนใครที่เรียนแย่หรือไม่ตั้งใจเรียนก็จะถูกตีตราว่าไม่มีอนาคต หากในความเป็นจริงแล้วชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงไปเสียทุกคน เพราะหลายคนเมื่อถึงจุดพลิกผันของชีวิต ก็อาจเปลี่ยนทางเดินไปสู่ฉากหนึ่งของชีวิตโดยไม่รู้ตัว หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือกีรติ ปกินนกะ บุคคลชลประทานของเราในเดือนนี้ 

จากเด็กแสบมาเป็น วิศวกรนักพัฒนา
               กีรติ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตเขาเคยเป็นเด็กนักเรียนหัวโจกประจำโรงเรียนอำนวยศิลป์ จนกระทั่งย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ก็ยังคงวาดลวดลายแสบระดับตำนาน จนครูฝ่ายปกครองถึงขั้นหมายหัวว่าจะต้องเก็บกระเป๋าออกจากโรงเรียนเข้าสักวัน
“พฤติกรรมลักษณะนี้ ผมยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมทนงตนว่าเป็นลูกนายทหาร ถูกสอนให้ไม่กลัวใครแต่ภายใต้วีรกรรมแสบๆ ผมก็ยังใฝ่รู้อยู่ลึกๆ กับวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ที่ผมไม่เคยขาดเรียนเลยสักครั้งเดียว”
กีรติ เล่าต่อว่า หลังเรียนจบมัธยมปลาย เขาได้ตามความฝันโดยได้สอบเข้าเรียนที่โรงเรียนการชลประทานได้สำเร็จ ตอนนั้นหลายคนก็มองว่ากีรติจะเข้าไปสร้างวีรกรรมอีกรึเปล่า แต่คราวนี้เป็นวีรกรรมด้านดีที่ถึงขั้นเป็นจุดพลิกผันครั้งยิ่งใหญ่ของหนุ่มแสบเมืองนนท์คนนี้

“เป็นโชคดีของผม เพราะที่นี่เน้นเรียนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เป็นหลัก จากเด็กหลังห้องเมื่อได้เข้าเรียนที่โรงเรียนการชลประทานจึงได้ค้นพบว่าตนเองชอบเรียนวิชาทางด้านวิศวกรรม เมื่อประกาศคะแนนเทอมแรกและทันทีที่นำผลการเรียนให้พ่อแม่ดู ปรากฏว่าสายตาท่านดีใจมากชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ภาพตรงหน้าทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า เราเองก็ทำให้ท่านภูมิใจได้เช่นกันนะเนี่ย”
จากเด็กที่ดูเหมือนชีวิตไม่มีอะไรโดดเด่น แต่กลับค้นพบตนเองเพราะเห็นถึงความภาคภูมิใจของพ่อ ถ้าทำแล้ว

ท่านมีความสุข กีรติจะทำอย่างเต็มที่ เขาเลิกเกเร ตั้งใจเรียนและขวนขวายสนใจในทุกวิชา กระทั่งสามารถเรียนจบในลำดับต้นๆ ของนักเรียนการชลประทานรุ่นที่ 46
หลังจากเรียนจบจากวิทยาลัยชลประทาน แม้จะต้องทำงานแต่กีรติก็ใฝ่รู้ที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาตรีโดยได้สอบติดในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมโยธามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และได้ตั้งใจเรียนจนจบการศึกษาด้วยคะแนนเป็นที่ 1 พร้อมได้รับรางวัลเรียนดี และทุนการศึกษาทุกปี ไม่เพียงเท่านี้เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ที่บางมดให้ไปศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จนจบการศึกษาในปี 2542

ที่ปรึกษาดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
ทำงานอย่างเดียวก็ว่าหนักแล้ว แต่ถึงขั้นเรียนควบคู่ไปด้วย หลายคนคงท้อ แต่สำหรับกีรติแล้ว “ค่อนข้างเบาใจ”เพราะเขามีที่ปรึกษาในขณะนั้นคืออาจารย์สาธิต มณีผายผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา ด้านสำรวจและหรือออกแบบ
“ในช่วงที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งนายช่างชลประทาน 3 ผมมีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความรู้ที่ได้สำเร็จการศึกษามา จึงได้ขอเปลี่ยนสายงานมาเป็นวิศวกรโยธา และได้ทำงานร่วมกับอาจารย์สาธิต มณีผายผู้ซึ่งเป็นทั้งครูและพี่ที่ให้การอบรมสั่งสอนทั้งในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งผมได้ยึดถือเป็นแบบอย่างตลอดมา”

 ผลงานสำคัญในอดีตถึงปัจจุบัน

หนึ่งในผลงานออกแบบของกีรติ ในช่วงยุคแรกๆ ของการทำงานคือ งานออกแบบศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วงปี 2546 เป็นโครงการในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้รับโจทย์การออกแบบมาว่า ชั้นแรกของอาคารจะต้องมีความโดดเด่นในด้านโครงสร้าง เป็นห้องโถงโล่งกว้าง สะดุดตา ไม่มีเสามาบดบังด้วยความรู้ความชำนาญในงานวิศวกรรมโครงสร้าง ประกอบกับเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาการออกแบบโครงสร้างคอนกรีตอัดแรง จึงได้ประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ในการออกแบบโครงสร้างช่วงยาว 22 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นคานช่วงยาวมากไม่สามารถใช้เทคนิคก่อสร้างปกติได้ แต่เพราะความตั้งใจที่จะสนองงานพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถผมจึงทุ่มเททำงาน จนสุดท้ายจากงานออกแบบก็บรรลุเป้าหมายก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ประสบการณ์ครั้งนี้สอนให้รู้ว่า ทุกปัญหาย่อมมีทางออกอยู่ที่ปลายทางเสมอ


อีกหนึ่งผลงานที่จะลืมกล่าวถึงไปไม่ได้เลย คือโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อ.เชียงคาน จ.เลยจากจุดมุ่งหมายหลักที่มีไว้สำหรับการบริหารจัดการน้ำของ จ.เลย แต่การออกแบบได้ฉีกกรอบแนวคิด โดยให้มีหอชมวิวลักษณะเป็น “หัวผีตาโขน” ใส่ประเพณีเก่าแก่ลงบนชิ้นงานจนมีอัตลักษณ์น่าจดจำ โดยผลงานชิ้นนี้เมื่อแล้วเสร็จ จะมีผลกับเศรษฐกิจไทยในแง่ของการท่องเที่ยวกลายเป็นจุดเช็กอิน และเซลฟี่ของนักท่องเที่ยว มีประโยชน์ที่งอกเงยออกดอกผล ขอเพียงแค่คุณ “คิดต่างอย่างมีสไตล์”เท่านั้นเอง

“ผลงานชิ้นล่าสุดของผม คือ อาคารศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เป็นอาคารเพื่อรองรับและสนับสนุนงานกรมชลประทาน เพื่อก้าวสู่ “กรมชลประทาน 4.0” ภายในประกอบด้วยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์น้ำทั้งในการบริหารจัดการและการแจ้งเตือนภัยอันเกิดจากน้ำ ซึ่งจะสามารถลดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ เปน็ การสร้างประโยชนให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก อาคารดังกล่าว จะเปิดใช้งานในเดือนมิถุนายน 2560 ก็ขอให้ทุกท่านติดตามต่อไป

“ตั้งแต่เริ่มรับราชการจนถึงปัจจุบัน ผมได้รับความกรุณาและความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาโดยตรงและผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น จนมีความก้าวหน้าตามวิถีการรับราชการ ซึ่งผมขอตั้งปณิธานว่าจะปฏิบัติงานในความรับผิดชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเต็มกำลังความรู้ความสามารถ เพื่อตอบสนองนโยบายที่ได้รับมอบหมาย และประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติสืบต่อไป” กีรติ ทิ้งท้าย