ปวช./ปวส. อนาคตเด็กไทยจะไปต่อยังไงในยุค 4.0


  • แม้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะเร่งผลักดันให้เด็กเรียนสายอาชีพ แต่นโยบายเกี่ยวกับการเรียนต่อปริญญาตรีของผู้ที่จบ ปวส. เพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัยกลับต้องใช้ระยะเวลาเรียน 3-5 ปี
  • คณะวิชาที่อนุญาตให้เด็ก ปวส. สามารถเข้าเรียนต่อยังมีอยู่จำกัด ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่เลือกเรียนสายอาชีวะ และอุตสาหกรรมต่างๆก็ต้องขาดกลุ่มฝีมือแรงงานในที่สุด
  • เด็กรุ่นใหม่มุ่งสู่ป.ตรี ผู้จบในระดับปริญญาตรีจะเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุดถึง 738,218 คน
  • คนไทยไม่ชอบงานหนัก งานยากลำบาก และงานสกปรก แต่กลับเลือกตกงานมากกว่าจะไปทำงานทดแทนแรงงานต่างด้าว
  • เยอรมันนี กรณีศึกษาของตลาดแรงงานสายอาชีวะ ที่ส่งเสริมให้เรียนสายอาชีพตั้งเเต่ยังเด็ก
  • อีก 8 ปีข้างหน้า แรงงานระดับกลางในสายวิทย์และเทคโนโลยี จะเติบโต

ข้อมูลสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่า ปัจจุบันมีความต้องการแรงงานคุณภาพสายอาชีพมีมากถึง 500,000 คนต่อปี ซึ่งในการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ต้องเร่งสร้างแรงงานฝีมือสายอาชีวะไว้ถึง 1.99 ล้านคน โดยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนทุกมิติพร้อมนวัตกรรมนี้ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีวะ เนื่องจากความต้องการแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น แต่มุมกลับกันของเด็กอาชีวะในระดับ ปวส. กลับถูกหมางเมิน เนื่องจากหากเด็กกลุ่มนี้ต้องการศึกษาต่อในระดับป.ตรีก็จะต้องใช้เวลานานขึ้นอีก 3-5 ปี

ทั้งดันทั้งเพิ่มค่าแรงแต่ยังขาดแคลนแรงงานฝีมืออาชีวะ

นโยบายภาครัฐขณะนี้เน้นย้ำการพัฒนาแรงงานฝีมือเข้าสู่ตลาด เพราะแรงงานคุณภาพถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐฯและเอกชนออกมาขานรับนโยบายดังกล่าว พร้อมเร่งพัฒนา ผลักดันเด็กที่จบม.3ให้หันมาเรียนต่อสายอาชีพมากขึ้น ตลอดจนกำหนดค่าแรงฝีมือแรงงานอาชีพไว้สูงถึง 700 บาทต่อวัน ตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 20 สาขา ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณี และกลุ่มลอจิสติกส์ แต่ไม่ว่าจะกระตุ้นมากเพียงใด ปัจจุบันประเทศไทยก็ยังขาดแคลนแรงงานวิชาชีพในระดับอาชีวะอยู่จำนวนมาก

เด็กรุ่นใหม่มุ่งเรียนจบอย่างน้อยปริญญาตรี

จากข้อมูลรายงาน ‘ผู้สำเร็จการศึกษาและประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2561’ ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560 จำนวน 555,416 คนและปี 2561 จำนวน 634,205 คน รวมทั้งสิ้น 1,189,621 คน โดยผู้จบในระดับปริญญาตรีจะเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด 738,218 คน ตัวอย่างตลาดแรงงานที่จะออกมาในปี 2561 ที่แบ่งสัดส่วนได้ดังนี้

  • ป.ตรี จำนวน 400,650 คน (63.17%)
  • ปวส. จำนวน 95,600 คน (15.07%)
  • ม.3 จำนวน 69,591 คน (10.98%)
  • ปวช. จำนวน 47,856 คน (7.55%)
  • ม. 6 จำนวน 20,508 คน (3.23%)

การเข้ามาแทนที่ของแรงงาน AEC

ดร. ยงยุทธ  แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าตลาดแรงงานไทยเริ่มมีกำลังลดลง โดยปี 2559 มีแรงงาน 38.7 ล้านคน และปัจจุบันเหลือ 37.8 ล้านคน ซึ่งหายไปจากตลาดราว 1 ล้านคน ทำให้ไทยต้องเผชิญปัญหาความต้องการแรงงานเพิ่มปีละ 3 แสนคน แต่จำนวนนี้ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในตลาดแรงงานได้ครบถ้วนทำให้ข้อเท็จจริงคือไทยเรายังขาดแคลนแรงงานมากกว่า 1.8 แสนคนต่อปี

การขาดแคลนแรงงานนี้เป็นผลจากการที่ภาคการผลิตที่แท้จริง (real sectors) ยังคงปรับเปลี่ยนโครงสร้างช้ามากเนื่องจากยังคงใช้นโยบายพึ่งพาแรงงานจากประเทศ 3 ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า, ลาว และกัมพูชา เกือบ 3 ล้านคน และแรงงานคนไทยเข้าไปแทนที่ (replacement) ก็มีน้อยมาก  เนื่องจากคนไทยไม่ชอบงานหนัก งานยากลำบาก และงานสกปรก แต่กลับเลือกตกงานมากกว่าจะไปทำงานทดแทนแรงงานต่างด้าวหรือเลือกเดินต่อไปในสายปริญญา โดยเชื่อว่าจะมีความก้าวหน้าได้รับค่าตอบแทนที่ดี จะมีอนาคตที่ดีกว่า

เยอรมันนีกรณีศึกษาของระบบอาชีวะไทย

เยอรมันจัดเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะอาชีพในการทำงาน ดังนั้นระบบการศึกษาของเยอรมันจึงเอื้อต่อการมุ่งเน้นไปที่สายวิชาชีพ ทั้งเด็กของประเทศเขาเองยังชอบเลือกเรียนสายอาชีพมากกว่า เพื่อจะได้ทำงานเลี้ยงตัวเองได้เร็วขึ้น ในระดับม.2 ถึงม.3 นักเรียนจะมีสิทธิ์เลือก ซึ่งเป็นการฝึกงานจริงทั้งวัน พร้อมเขียนรายงานและเล่าประสบการณ์ว่าการฝึกงานได้อะไรบ้าง ทำให้เด็กเห็นคุณค่าของงาน และรู้ว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบงานนี้จริงหรือไม่? รู้ว่าตัวเองชอบและอยากทำอาชีพอะไรได้เร็วขึ้น และไม่ยึดถือค่านิยมของอาชีพจนเกินไป โรงเรียนสายอาชีพของเยอรมันจะเน้นเป็นระบบ Dual System (ทวิภาคี) ที่ร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน มีสาขาอาชีพให้เลือกเรียนมากมาย เช่น พนักงานห้างร้าน, งานค้าปลีก , ช่างไฟ, ช่างกล, โลจิสติกส์, ผู้ช่วยแพทย์, ช่างทำผม, งานบัญชี, พาณิชย์นาวี ฯลฯ ระยะเวลาเรียน 2-3 ปี แล้วแต่อาชีพที่เลือกแบ่งเรียนที่โรงเรียน 40% บริษัทที่ฝึกงาน 60% ฝึกงานอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 ชม. ต่อวัน และได้รับเงินค่าตอบแทนจากนายจ้างด้วย ซึ่งเหล่านี้ต่างจากมุมมองของคนไทยที่มองว่าคนเลือกเรียนสายอาชีพนั้นด้อยค่า เพราะมักมีค่านิยมที่จะมุ่งเน้นแต่จะเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับปริญญาตรี

ตลาดความต้องการแรงงานในอีก 8 ปีข้างหน้า

จากการประเมินของ TDRI พบว่า ตลาดแรงงานในปี 2568 แรงงานระดับกลางในสายวิทย์และเทคโนโลยี จะเติบโตเพียงปีละ 3 หมื่นคน ขณะที่แนวโน้มแรงงานไทยในระดับ ปวส. จะเติบโตจาก 1 ล้านคนเป็น 1.1 ล้านคนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ล้วนเป็นแรงงานในกลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, คณิตศาสตร์และสถิติ) ซึ่งจัดเป็นแรงงานพื้นฐานตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0

ด้านตลาดแรงงานสายอื่นๆที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T) จะแตกต่างกันคือ ความต้องการบุคลากรในสายธุรกิจ, บริการและสาขาอื่นๆในระดับ ปวช. จะเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนเป็น 2 ล้านคน แต่ความต้องการของตลาดแรงงานในระดับ ปวส. ในสาขาที่ไม่ใช่ S&T กลับมีแนวโน้มลดลงจาก 8 แสนคนเหลือ 6 คน ผลจากการที่อุปสงค์ที่น้อยกว่าอุปทานนี้ ก็อาจทำให้ ปวส. ในสายงานที่ไม่ใช่ S&T ว่างงานจำนวนมากก็เป็นไปได้

คำถามคือกำลังคนส่วนที่หายไปในตลาดแรงงานไปไหน คำตอบคือไม่ได้หายไปไหนแต่ได้ผันตัวเองไปเรียนในระดับปริญญาตรี (ตามนโยบายเพิ่มจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัย) โดยไม่ได้เรียนผ่าน ปวส. ซึ่งทำให้แนวโน้มของแรงงานเพิ่มจาก 3.01 ล้านคน เป็นเกือบ 6 ล้านคนในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกันกับผู้เรียน ปวช. สาย S&T บางส่วนผันตัวเองไปเรียนระดับปริญญาตรี ทำให้จำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 1.15 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.4 ล้านคนในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน

ภาคเศรษฐกิจจะเติบโตไปในทิศทางที่ต้องใช้กำลังคนด้าน STEM มากขึ้น นักศึกษาที่จบสาย S&T จึงมีโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานมากกว่าผู้เรียนสาย Non-S&T ความหวังจึงอยู่ที่การขยายตัวของภาคบริการของประเทศทั้งในส่วนงานบริการ, ค้าขายปลีก-ส่ง, งานซ่อมบำรุง, งานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ หากคนไทยรุ่นใหม่ๆไม่เลือกงาน ก็จะมีโอกาสได้ทำงานเหล่านี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามตำแหน่งงานที่มีแนวโน้มการจ้างงานลดลง ได้แก่ งานในอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง และการเกษตร ในส่วนของการจ้างงานเพิ่มขึ้น จะอยู่ในตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าส่ง, ค้าปลีก, ซ่อมบำรุง, ภาคบริการอย่างโรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร ,ภาคกิจกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์, ภาคการศึกษา

อ้างอิง

www.thaiquote.org

www.tcijthai.com

www.manager.co.th