หลังจากรัฐบาลมีนโยบายนำประเทศไทยก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการนำเทคโนโลยีมามีบทบาทในการใช้ชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยได้เริ่มต้นโครงการ “เน็ตประชารัฐ” ที่มีความหมายตรงตัวคือ อินเทอร์เน็ตกับประชาชน ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 24,700 หมู่บ้านที่ไม่มีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์
เนื่องจากปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอาจมองเรื่องการลงทุนในการเข้าไปติดตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่การลงทุนจะเลือกให้บริการตามหัวเมืองต่าง ๆ มากกว่าจะเข้าถึงในหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสในการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และก่อให้เกิดโครงการ “เน็ตประชารัฐ” เข้ามาตอบสนองประชาชนโดยที่รัฐบาลได้ให้ ทีโอที เป็นผู้ดำเนินการในโครงการและให้บริการตามบ้านในราคาถูกกว่าปกติ
สำหรับรูปแบบการให้บริการในโครงการ เน็ตประชารัฐ คือ
ฟรี WiFi : เน็ตประชารัฐ จะเลือกพื้นที่ที่เป็นจุดศูนย์กลาง หรือจุดรวมตัวกันของหมู่บ้านเพื่อให้บริการ โดยสามารถรองรับจำนวนการใช้งานได้พร้อมกัน และให้บริการในส่วนนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งการเชื่อมต่อนั้น ประชาชนจะต้องเลือกสัญญาณที่แสดงบนเครื่อง Thailand Wi-Fi by MDES และลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งระบบจะทำการส่ง SMS กลับมาที่เครื่องเพื่อรับรหัสผ่านในการเชื่อมต่อเพื่อเข้าใช้งานต่อไป
ขณะเดียวกัน การให้บริการอินเทอร์เน็ตไปสู่ประชาชนต่างจังหวัดก็เพื่อขยายโอกาสไปสู่ความเท่าเทียมในการเข้าถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น ประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต คนรุ่นใหม่ตามต่างจังหวัด รวมถึงผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 นี้ โดยแบ่งพื้นที่ให้บริการไปสู่ภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยทั้งสิ้น 6 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคใต้, ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ซึ่งปัจจุบันก็มีหลากหลายพื้นที่ที่ ทีโอที เข้าไปติดตั้งจุดปล่อยสัญญาณเพื่อให้บริการจากทั่วประเทศไทย โดยประชาชนสามารถตรวจสอบจุดสัญญาณการให้บริการได้ที่เมนู ค้นหาโครงการ เน็ตประชารัฐ ในเว็บไซต์ http://www.netpracharat.com/index/
ขณะเดียวกัน ประชาชนที่ต้องการทราบว่าชุมชน หรือหมู่บ้านที่ตนเองอยู่นั้นจะมี โครงการ “เน็ตประชารัฐ”มาติดตั้งหรือไม่สามารถตรวจสอบการติดตั้งการปล่อยจุดสัญญาณต่าง ๆ ได้ที่เบอร์สายด่วน 1111 กด 8 เพื่อสอบถามการบริการอินเทอร์เน็ตในโครงการ “เน็ตประชารัฐ”
ทั้งนี้ ด้วยความที่โลกปัจจุบันได้เดินทางไปสู่ในยุคดิจิทัล โครงการ “เน็ตประชารัฐ” จึงถูกผลักดันให้คนไทยสามารถมีอินเทอร์เน็ตใช้งานได้อย่างเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับคนในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสในการเข้าถึงการใช้งานได้ใกล้เคียงกับคนที่ได้รับบริการในเมืองใหญ่ และจะส่งผลให้การขับเคลื่อนประเทศสามารถทำได้ควบคู่กันไปได้ทั่วประเทศ
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
www.netpracharat.com/index
www.facebook.com/netpracharat
https://twitter.com/netpracharat