รหัสผ่านจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย ด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้


คุณเป็นคนหนึ่งที่ยังใช้รหัสผ่าน “123456” และ “qwerty” อยู่ใช่ไหม ไม่ต้องแปลกใจหรอก เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีคนเป็นล้านที่ยังใช้รหัสผ่านเหมือนคุณ แต่ทนเอาหน่อยเพราะรหัสผ่านกำลังจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยในอีกไม่นานนี้

รหัสผ่านง่ายๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้กันทั่วไปสำหรับแฮกเกอร์ เนื่องจากทุกวันนี้ผู้ใช้งานนับล้านยังคงใช้รหัสผ่านที่โดนแฮกมากที่สุดอย่าง “123456”, “qwerty” และ “password” กันอยู่ เพราะมันง่ายต่อการจดจำ ปัญหาเรื่องนี้กำลังจะหมดไป ด้วยการเพิ่มขึ้นของรูปแบบการรักษาความปลอดภัยที่มากขึ้น อาจจะทำให้รหัสผ่านแบบดั้งเดิมกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในอนาคตอันใกล้ บริษัทต่างๆ รวมถึง Microsoft ได้ประกาศเจตนาที่จะเปลี่ยนรหัสผ่านที่เป็นการพิมพ์แบบดั้งเดิมด้วยข้อมูลประจำตัวอื่นๆ ที่ปลอดภัยกว่า

สิ่งที่จะมาทดแทนรหัสผ่านในอนาคตจะเป็นอะไรได้บ้าง บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์บูลล์การ์ด กล่าวว่าหากพิจารณาจากแนวโน้มเป็นไปได้ว่าภายใน 5 ปี ระบบระบุลายนิ้วมือแบบไบโอเมตริกซ์จะแพร่หลายมากขึ้น รหัสผ่านแบบดั้งเดิมมีแนวโน้มที่จะได้รับการเสริมด้วยมาตรการอื่นๆ มากขึ้น

5 เทคโนโลยีทดแทนการใช้รหัสผ่าน

1. Biometrics

การพิสูจน์ตัวตนแบบไบโอเมตริกซ์ เช่นม่านตา ลายนิ้วมือ เสียง และการอ่านใบหน้าเป็นรูปแบบทั่วไปของการระบุตัวตนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามข้อมมูลในด้านชีวภาพอย่างลายนิ้วมือและม่านตา มันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ความยุ่งยากอาจจะอยู่ที่เรื่องของการรีเซ็ตซึ่งทำได้ยาก

2. Zero login

การเข้าสู่ระบบโดยไม่ต้องทำการ login เป็นการใช้ลักษณะพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคน อย่างรูปแบบการพิมพ์ สถานที่ไปบ่อยๆ และอาชีพการงาน เพื่อยืนยันตัวตน เป็นการอนุญาตให้ผู้ใช้เข้าใช้แอปพลิเคชันโดยไม่ต้องยืนยันตัวตนเลย อย่างโทรศัพท์บางรุ่นที่ใช้ความแรงของการกดปุ่มโฮมเป็นตัวปลดล็อค

3. Microchips

มีบริษัทบางแห่งเริ่มทำการฝังไมโครชิพในตัวพนักงาน เพื่อใช้งานแทนที่คีย์การ์ดและรหัสผ่าน พนักงานสามารถเข้าไปในอาคารและเข้าถึงคอมพิวเตอร์โดยการวางมือที่มีไมโครชิปติดกับเครื่องอ่าน อย่างไรก็ตามวิธีนี้มีเรื่องของจริยธรรมเกี่ยวข้องอย่างมากมาย อาจจะทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมน้อย

4. Brain passwords

รหัสผ่านของสมองเป็นการอ่านคลื่นสมองแบบดิจิทัล ที่เกิดจากกิจกรรมสมองในขณะที่ดูชุดของรูปภาพและวัตถุต่างๆ คลื่นสมองเหล่านั้นสามารถระบุตัวตนของแต่ละคนได้ เทียบเท่ากับลายนิ้วมือและการสแกนใบหน้า

5. การระบุด้วย DNA

ในประเทศกาตาร์และเอสโตเนียได้ทำการอ่าน DNA ของพลเมือง เพื่อติดตามการระบาดของโรคแล้ว การรับรองความถูกต้องโดยใช้ดีเอ็นเอสำหรับมาตรการอื่นๆ นั้นก็อยู่ไม่ไกลจากการเป็นจริงมากนัก