ก.พลังงาน เอาจริง! ส่งเสริมใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้า 1 ล้านคัน ภายในปี 2568


รัฐบาลเอาจริง ตั้งเป้าประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคสังคมคาร์บอนต่ำ เตรียมส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในภาคประชาชนเพิ่มขึ้น หวังเห็นรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทวิ่งบนท้องถนนกว่า 1 ล้านคน ในปี 2568

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน ได้หารือเรื่องการกำหนดทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลดการใช้รถยนต์สันดาป เพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของโลก

สาระสำคัญของการหารือได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยลดการใช้เครื่องยนต์สันดาป ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยมีเป้าหมายให้ปี 2568 ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป เพื่อกระตุ้นให้ประโยชน์เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

สำหรับเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในปี 2568 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 1,055,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถกระบะ402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน

และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถกระบะ 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน

ขณะเดียวกัน ในปี 2568 จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถกระบะ 400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน

และตั้งเป้าในปี 2578 จะผลิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถกระบะ 8,625,000 คัน รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน

พร้อมกันนี้ที่ประชุม ยังได้วางนโยบายในมาตรการเร่งด่วน และระยะ1-5 ปี คือ มาตรการกระตุ้นการใช้รถ EV ระยะเร่งด่วน โดยจัดตั้งสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่และการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้านมาตรการกระตุ้นระยะ 1-5 ปี เตรียมปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต การบริหารจัดการซากรถยนต์แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด

นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องคือ

1. คณะอนุฯ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วน

2. คณะอนุฯพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า

3. คณะอนุฯประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า

4. คณะอนุฯส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อย่างมีประสิทธิภาพ