มิจฉาชีพเยอะ! Whocall เผยสถิติโทรศัพท์หลอกลวงในไทยปี 64 มีมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง รูปแบบ SMS เยอะสุด


จะเห็นได้ว่าในช่วงหลังมีกลุ่มมิจฉาชีพโทรศัพท์เข้ามาหลอกลวงประชาชนมากขึ้น โดยบทสนทนาจะมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การมีพัสดุติดค้าง, การเป็นหนี้บัตรเครดิต, เชิญชวนให้ลงทุน, ปล่อยเงินกู้ อย่างไรตาม คนส่วนใหญ่เริ่มรู้ทันได้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นการหลอกหลวง และอัดคลิปวิดีโอระหว่างคุยกันเผยแพร่ลงบนช่องทางออนไลน์

Whocall แอปพลิเคชันป้องกันการฉ้อโกง เปิดเผยสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับโทรศัพท์หลอกลวงว่า ในปี 2564 มีการใช้โทรศัพท์หลอกลวงในไทยมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 270% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในรูปแบบของข้อความ SMS ที่เพิ่มขึ้นถึง 57% ซึ่งวิธีที่พบบ่อยคือการเชิญชวนให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และดึงข้อมูลส่วนตัวไป

ในเรื่องนี้คุณฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whocall กล่าวว่าการส่งข้อความมีต้นทุนต่ำ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเหยื่อในอัตราสูง โดยเมื่อดูสถิติในส่วนของข้อความ SMS หลอกลวงเพิ่มสูงขึ้น 57% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งประชาชนต้องระมัดระวังเบอร์แปลกที่โทรเข้ามา

รูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อยคือโทรมาอ้างว่าเป็นคอลเซนเตอร์บริการจัดส่งสินค้า และมีผู้เสียหายสูญเสียเงินรวมกันมากกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้ง รูปแบบหนึ่งที่พบ คือการอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าวหาเหยื่อว่ามีคดีฉ้อโกง

ทั้งนี้ เมื่อดูในภาพรวมก็จะพบอีกว่า ในปี 2564 ข้อความหลอกลวงทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 70% โดยลิ้งค์ฟิชชิ่งเป็นรูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อยที่สุดที่เหยื่อจะถูกล่อให้เพิ่มเพื่อนกับบัญชีปลอมบนโซเชียลมีเดีย หรือหลอกให้เข้าถึงเว็บไซต์ปลอม