ผู้ประกอบการSME อยากกู้เงินธนาคาร ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน


 

ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก SME หลายราย เริ่มต้นธุรกิจจากเงินก้อนของตัวเอง สร้างธุรกิจเล็กๆ ขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อคิดที่เริ่มขยายธุรกิจ การต้องการเงินทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มก็จะตามมา การติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับการทำธุรกิจที่ยั่งยืน แต่ธนาคารก็ไม่ได้ให้เงินกู้กับทุกคนที่เข้ามาขอกู้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ธนาคารต้องพิจารณา ทั้งโอกาสของธุรกิจที่มาขอสินเชื่อ คุณสมบัติของผู้ประกอบการทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความซื่อสัตย์

มาดูกันว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทางธนาคารส่วนใหญ่ใช้พิจารณาในการให้สินเชื่อกับธุรกิจ SME

ธุรกิจผ่านการพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้ว

ธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนของเจ้าของในการเริ่มและดำเนินธุรกิจในเบื้องต้น เมื่อดำเนินธุรกิจถึงจุดที่จำเป็นต้องขยายแล้ว ธนาคารจึงจะพิจารณาเพื่อให้เงินกู้กับธุรกิจ โดยทั่วไปธนาคารจะปล่อยกู้กับธุรกิจที่ได้มีการดำเนินการมาแล้วประมาณ 2 ปีขึ้นไป

แผนธุรกิจที่ชัดเจน

เวลาที่ขอสินเชื่อควรนำเสนอได้อย่างชัดเจนว่า สินค้าและบริการของเราคืออะไร รายได้มาจากไหน ลูกค้าเป็นใคร ต้นทุนเท่าไหร่ จะทำกำไรได้อย่างไร ใช้แหล่งเงินทุนมาจากไหน วิธีการบริหารงานเป็นอย่างไร เพื่อแสดงให้เห็นว่าธุรกิจนี้ทำแล้วมีกำไรและเจ้าของสามารถบริหารงานเองได้ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความมั่นใจให้แก่ธนาคารถึงความสำเร็จของธุรกิจ

ทำบัญชี งบการเงิน รายรับ-รายจ่าย ให้ถูกต้อง

ธนาคารจะขอดูงบการเงินของบริษัท หรือหากไม่ได้เป็นในรูปแบบบริษัท ธนาคารก็จะขอดูการเดินบัญชีของผู้ประกอบการว่า ที่ผ่านมามี รายรับ-รายจ่าย เข้ามาตามที่ได้แจ้งไว้หรือไม่ บางครั้งธุรกิจเล็กๆ ที่มีเจ้าของคนเดียวอาจจะนำเงินส่วนตัวมาปะปนกับบัญชี รายรับ-รายจ่าย ของบริษัท ซึ่งไม่เป็นผลดี ดังนั้นผู้ประกอบการควรเริ่มแบ่งบัญชีบริษัทออกมาให้ชัดเจน

แผนการใช้เงินกู้ธนาคาร

จะมี 2 ลักษณะ คือ กู้เพื่อเป็นเงินทุนขยายธุรกิจ เช่น ขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักร ฯลฯ หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชี วงเงินสินเชื่อเพื่อการนำเข้า-ส่งออก เป็นต้น

มีประวัติการเงินที่แสดงถึงความซื่อสัตย์

ข้อนี้ถือว่ามีความสำคัญมากทีเดียว เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินหลักๆ ทั้งธนาคาร ลีสซิ่ง บัตรเครดิต ล้วนเป็นสมาชิกของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร การที่บริษัทหรือบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการ ผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินเหล่านี้ จะมีผลทำให้ธนาคารไม่สามารถอนุมัติปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทหรือบุคคลนั้นๆ ได้ จนกว่าข้อมูลผิดนัดชำระหนี้นั้นจะถูกลบจากเครดิตบูโร ซึ่งใช้เวลาถึง 3-5 ปี ทำให้เสียโอกาสในการขยายธุรกิจได้

ดังนั้นก่อนที่จะเดินเข้าไปขอสินเชื่อจากธนาคาร ในฐานะที่จะเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพควรจะเตรียมความพร้อม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสามารถนำเงินมาต่อยอดธุรกิจได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ที่มา : www.pattanakit.net