รับมืออย่างไรเมื่อค่าเงินผันผวน


 

ปัจจุบันการค้าขายระหว่างประเทศถือเป็นกระแสหลักแห่งการค้าการลงทุนที่สำคัญ มีการสร้างธุรกิจการค้าข้ามชาติกันมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าที่เป็นทั้งวัตถุดิบที่ต้องนำไปใช้สร้างผลิตภัณฑ์ต่อ หรือที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปสามารถนำไปใช้งานได้เลย ถือเป็นประเทศชั้นนำในภูมิภาคแถบนี้เลยก็ว่าได้

แต่ถึงกระนั้น ประเทศไทยกับประสบกับภาวะการขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลจากประเทศผู้ค้า หลายคนตั้งคำถามในใจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่เราก็เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แรงงานที่ผลิตก็เป็นคนไทย ผลิตในประเทศไทย ส่งไปขายยังต่างประเทศ แล้วมันจะขาดดุลทางการค้าไปได้อย่างไร ซึ่งถ้าจะให้ตอบตามตรงคงต้องพูดว่าที่กล่าวมาก็มีส่วนที่ถูกแต่ถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงบนถนนสายเศรษฐกิจระดับชาติมันเป็นอะไรที่มากกว่านั้น ใช่แต่ว่าคุณขายของได้แล้วจะต้องได้กำไรเสมอไป ณ เวลานี้หาได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป สาเหตุอันเป็นที่มาของเรื่องนี้คือ ค่าเงินบาท นั่นเอง

นับตั้งแต่ประเทศไทยประกาศอัตราลอยตัวค่าเงินบาท ในยุคหนึ่ง จากนั้นเป็นต้นมานักการเงินในประเทศไทยต้องคอยจับตาดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทยที่อิงกับค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐตลอดเวลา จะขออธิบายหลักง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ในการค้าขายระหว่างประเทศนั้น สกุลเงินที่ถือเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับคือ ดอลลาร์สหรัฐ ทุกประเทศที่มีเงินสกุลเป็นของตัวเองมักจะต้องนำมาอ้างอิงกับสกุลเงินนี้เสมอรวมทั้งประเทศไทยด้วย ถ้า ณ ปัจจุบันนี้ราคาแลกเปลี่ยนคือ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 33.28 บาท ถ้ามีออเดอร์สั่งซื้อกุ้งจากต่างประเทศในราคา 1,000 เหรียญ ผู้เลี้ยงกุ้งจะได้เงิน 33,280 บาท แต่ถ้าในอนาคตค่าเงินเกิดการผันผวนอย่างหนัก เงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 30 บาท ออเดอร์สั่งของเท่าเดิมคือ 1,000 เหรียญ คนเลี้ยงกุ้งจะได้เงินเพียงแค่ 30,000 บาทเท่านั้น เงินหายไปทันที 3,280 บาท ทั้งๆ ที่ระยะเวลาในการเลี้ยงกุ้งเท่าเดิม ราคาค่าอาหารกุ้งก็เท่าเดิม แต่เกิดการผันผวนทางการเงินขึ้นจึงทำให้เกิดการขาดทุนตามมาและกลายเป็นปัญหาขาดดุลของประเทศในที่สุด

ซึ่งปัญหาการผันผวนของค่าเงินบาทนี้เป็นปัญหาใหญ่ขององค์กรที่ประกอบกิจการทางด้านการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทที่ค้าขายหรือมีการทำธุรกรรมทางการเงินกับต่างกับต่างประเทศ โดยในอนาคตแนวโน้มการผันผวนทางธุรกิจน่าจะมีมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องทำความรู้จักกับวิธีการรับมือวิธีต่างๆ ที่เราจะขอนำเสนอดังต่อไปนี้

1. กำหนดกลยุทธ์และทิศทางของบริษัท

ไม่ควรผูกติดกับการค้าขายกับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ควรเลือกทำกับหลายๆประเทศ

กลยุทธ์การกำหนดทิศทางของธุรกิจให้มีความสอดคล้องตรงตามความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะเลือกให้ธุรกิจมีความเสี่ยงจาการผันผวนของค่าเงินบาทให้ลดน้อยลง มีความหลากหลายในตัวผลิตภัณฑ์ให้มีหลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น ไม่ควรผูกติดในการส่งสินค้าให้กับประเทศใดประเทศหนึ่ง ควรเลือกที่จะทำการตลาดและค้าขายกับหลายๆประเทศ

2. สร้างอำนาจในการต่อรอง

ควรสร้างอำนาจในการต่อรองการขายสินค้ากับประเทศคู่ค้าให้มาก โดยค้นหาจุดเด่นของสินค้าตนเองที่เหนือกว่าคู่แข่ง เช่น ความสวยงาม และแข็งแรง คงทน จากนั้นจึงพยายามต่อราคาให้ได้ราคาที่เหมาะสม

3. สร้างตราสัญลักษณ์สินค้า

พยายามสร้างตราสินค้าของเราให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกให้ได้ อันจะนำมาซึ่งความสามารถในการเป็นผู้นำในตลาดของสินค้าประเภทเดียวกันและเราจะสามารถกำหนดทิศทางและที่สำคัญสามรถกำหนดราคาสินค้าเองได้

4. วางแผนในการบริหารธุรกิจให้ชัดเจน

เนื่องด้วยความผันผวนทางตลาดเงิน การวางแผนดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุมดูจะเป็นวิธีที่ได้ผลเป็นอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะการบริหารเงินทุนที่มีอยู่ให้สามารถใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

5.ลดต้นทุนการผลิต

ให้มีต้นทุนต่ำลงแต่คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ ค้นหาวัสดุในการผลิตที่มีต้นทุนต่ำลง แต่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ โดยอาศัยการบริหารและการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านทางกระบวนการวิจัยที่ให้ผลอกมาป็นค่าสถิติไม่คลาดเคลื่อนสามารถนำมาอ้างอิงได้

6. ใช้สัญญาซื้อขายเงินตราระหว่างประเทศล่วงหน้า

สิ่งนี้คืออาวุธสำคัญที่ทรงพลังที่สุดในการต่อสู้กับการผันผวนของค่าเงินบาทและเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมที่สุด สัญญาซื้อขายเงินตราระหว่างประเทศล่วงหน้า หรือ Forward Contract โดยผู้ซื้อหรือผู้ขายทำการตกลงซื้อขายเงินตราสกุลหนึ่งในจำนวนที่แน่นอนในปัจจุบัน แต่ทำการส่งมอบกันในอนาคต โดยสามารถติดต่อได้กับธนาคารทุกธนาคารที่ทางบริษัทใช้บริการอยู่

จะเห็นได้ว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสามารถส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อธุรกิจคุณได้อย่างมหาศาลโดยเฉพาะธุรกิจส่งออก จึงจำเป็นที่เจ้าของธุรกิจจะต้องทำการศึกษาการดำเนินธุรกิจอย่างถี่ถ้วนเพื่อจะไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบต้องมานั่งยอมรับสภาพการขาดทุนอย่างย่อยยับ

ที่มา : incquity.com