เมื่อความผันผวนมาเยือนตลาดการเงินโลกตั้งแต่ต้นปี 2558


หลังจากเจอกับความผันผวนอย่างมากในเดือนธันวาคม 2557 ก่อนจะปิดสิ้นปีไป แต่เปิดปี 2558 มาไม่เท่าไหร่ ตลาดการเงินทั่วโลกกลับยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งตลาดหุ้น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน จนทำให้นักลงทุนหลายคนเริ่มเกิดความกังวลแล้วว่า ทิศทางการลงทุนในปี 2558 นี้จะเป็นอย่างไร

หากไล่มาดูประเด็นที่ทำให้ตลาดการเงินโลกปั่นป่วน ประเด็นแรกคงต้องไปดูที่สถานการณ์การเลือกตั้งของประเทศกรีซ ซึ่งเป็นประเด็นที่จับตามองกันมาตั้งแต่ปลายปี 2557 แล้ว โดยหลังจากนายกรัฐมนตรีของกรีซได้ประกาศยุบสภา และเตรียมเลือกตั้งใหม่ในปลายเดือนมกราคมนี้ ทำให้นักลงทุนกังวลกันว่า หากฝ่ายค้านของกรีซนำโดยพรรคไซรีซ่า (Syriza) ซึ่งต่อต้านการอยู่ในกลุ่มยูโร เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง อาจจะทำให้มีการนำกรีซออกจากสหภาพยุโรป และก่อให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกอีกครั้ง เหมือนที่เคยกังวลกันเมื่อ 2- 3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว พบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นดังกล่าวมากนัก เพราะแม้ว่าสถานะทางการเงินการคลังของกรีซ ณ ปัจจุบัน จะดีขึ้นกว่าในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็ยังคงต้องพึ่งพาสหภาพยุโรปอยู่ โดยในปี 2558 นี้ กรีซมีกำหนดต้องชำระหนี้เงินกู้กว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หากมีการออกจากสหภาพยุโรป จะทำให้กรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารกลางยุโรป และไอเอ็มเอฟ ซึ่งอาจจะส่งผลถึงขั้นล้มละลาย

ดังนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าแม้พรรคที่ต่อต้านการอยู่ในสหภาพยุโรปจะชนะเลือกตั้ง แต่ก็จะมีการเจรจายอมรับเงื่อนไขและอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปต่อไป แต่นั่นก็ทำให้ตลาดเกิดความกังวลและปรับตัวลดลงไปไม่น้อยในช่วงต้นเดือนมกราคมประเด็นถัดมาที่ซ้ำเติมความผันผวนในตลาดโลก มาจากการที่ราคาน้ำมันดิบ ทั้ง WTI และ Brent ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนหลายคนกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อหุ้นของบริษัทพลังงาน ซึ่งมีน้ำหนักเกือบ 10% ในตลาดหุ้นโลก และก่อให้เกิดแรงเทขายในหุ้น โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มพลังงานออกมาทั่วโลก

ทว่าหากพิจารณาในอีกด้าน พบว่าการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมัน เช่น อินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ ไทย เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในประเทศเหล่านี้ลง และส่งผลทำให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนตลาดหุ้น ขณะที่ราคาน้ำมันที่ต่ำ ก็จะช่วยทำให้ประเทศที่มีการอุดหนุนราคาน้ำมัน อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี สามารถลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน และมีฐานะการคลังที่ดีขึ้น ทำให้มีเงินทุนสำรองเพิ่มเติมและพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการเงินการคลังต่างๆได้หากมีปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดี ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และประเทศรัสเซีย อาจจะได้รับผลกระทบในทางลบ โดยเฉพาะรัสเซีย ซึ่งนอกจากจะประสบปัญหาค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงแล้ว ยังเจอแรงกระทบจากราคาน้ำมันที่ต่ำอีก จึงมีความเสี่ยงที่สูงกว่าประเทศอื่น และอาจจะทำให้กลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งมีการค้าขายใกล้ชิดกับรัสเซีย ได้รับผลกระทบในเชิงลบไปด้วย

ประเด็นที่สาม ที่ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วน เป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางของสวิสเซอร์แลนด์ ได้ประกาศยกเลิกเพดานอัตราแลกเปลี่ยนเงินสวิสฟรังก์ กับเงินยูโรที่ระดับ 1.20 ฟรังก์ต่อยูโร ซึ่งได้กำหนดไว้เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อป้องกันค่าเงินสวิสฟรังก์ไม่ให้แข็งค่ามากจนเกินไปจนเกิดภาวะเงินฝืด ส่งผลให้ค่าเงินฟรังก์สวิส แข็งค่าขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับเงินยูโรทันที และส่งผลให้ตลาดหุ้นของสวิสเซอร์แลนด์ปรับตัวลงอย่างแรง เนื่องจากนักลงทุนกังวลกันว่าบริษัทในสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ และมีการส่งออกเป็นจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น และส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนด้วย

อย่างไรก็ดี ค่าเงินสวิสฟรังก์ที่แข็งค่าขึ้นได้ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง และทำให้ตลาดหุ้นยุโรปได้รับผลดี เนื่องจากจะทำให้บริษัทยุโรปมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และการส่งออกมากขึ้น นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินยูโร ก็สอดคล้องกับแผนการของธนาคารกลางยุโรป ที่อาจจะมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปในภาพรวม จึงมองว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นแค่ระยะสั้นเท่านั้น

ประเด็นล่าสุดที่ก่อให้เกิดความผันผวน โดยเฉพาะในตลาดฝั่งเอเชีย ได้แก่ การที่หน่วยงานด้านการกำกับหลักทรัพย์ของจีน (China Securities Regulatory Commission – CSRC) ได้ออกมาประกาศในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 16 มกราคม ว่าจะมีการห้ามการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยการกู้ยืม (Margin) สำหรับลูกค้าใหม่กับ
บริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ของจีน 3 แห่ง คือ Citic Securities, Haitong Securities และ GoutaiJunanเป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ ยังกำหนดห้ามการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยการกู้ยืม (margin) สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินลงทุนไม่เกิน 5 แสนหยวน (2.5 ล้านบาท) ซึ่งผลจากการประกาศดังกล่าว ทำให้ตลาดหุ้นจีนเกิด
ความปั่นป่วน และปรับตัวลงแรงอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน A-Share โดยดัชนี CSI 300 ปรับตัวลงกว่า 8% ขณะที่ตลาดหุ้น H-Share ก็ปรับตัวลงกว่า 4% เพียงชั่วข้ามคืน

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าทางการจีน มีการเอาจริงเอาจังกับการควบคุมภาวะตลาดการเงินและตลาดทุนในประเทศ ไม่ให้มีความร้อนแรงเกินไป โดยเฉพาะหลังจากตลาดปรับตัวขึ้นแรงมากในปีที่ผ่านมากว่า 51% ซึ่งแม้ว่าในระยะสั้นตลาดจะได้รับผลกระทบในเชิงลบ และก่อให้เกิดความผันผวนอย่างมาก แต่ในระยะยาว การเข้มงวดดังกล่าวจะส่งผลดีให้ตลาดหุ้นจีนมีเสถียรภาพ และเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้น A-Share ซึ่งยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากคาดว่าเม็ดเงินที่ถูกล็อกไว้กว่า 1 ล้านล้านหยวน (5 ล้านล้านบาท) ในช่วงที่มีการ IPO หุ้นจีนที่ผ่านมา จะถูกปล่อยสู่ตลาดภายในสัปดาห์นี้ รวมถึงการเพิ่มตลาดหุ้นเซินเจิ้น เข้ามาร่วมเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ก็จะช่วยเสริมสภาพคล่องและความน่าสนใจของตลาดหุ้นจีนในภาพรวม

จะเห็นได้ว่า เพียงแค่เริ่มต้นปี ตลาดหุ้นและตลาดการเงินทั่วโลก ก็พบกับภาวะความผันผวนและเหตุการณ์สำคัญๆ แล้วถึง 4 เหตุการณ์หลัก ซึ่งส่งผลให้ดัชนี CBOE Market Volatility Index หรือดัชนี VIX ซึ่งใช้ชี้วัดความผันผวนของตลาดหุ้นปรับตัวอยู่ในระดับสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี (ปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 20 จุด เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับประมาณ 17 จุด) อย่างไรก็ดี ความผันผวน ไม่ได้ส่งผลเสียต่อการลงทุนเสมอไป ตรงกันข้าม กลับเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถหาจังหวะเข้าลงทุนในตลาดที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานดีในช่วงภาวะที่ตลาดย่อตัวลงมาได้ อย่างไรก็ดี จากภาพตลาดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พอจะทำให้ผู้ลงทุนเห็นได้ว่า แนวโน้มการลงทุนในปี 2558 นี้ น่าจะมีความผันผวนต่อเนื่องทั้งปี ผู้ลงทุนจึงต้องมีความสามารถที่จะยอมรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น รวมถึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลของตลาดและติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด

ที่มา : www.kasikornasset.com