ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดค่าเงิน


 

ปัจจัยหลายประการเป็นตัวกำหนดค่าเงิน ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ ปัจจัยดังแสดงต่อไปนี้มิได้เรียงลำดับความสำคัญมากไปน้อย

(1)ความแตกต่างของอัตราเงินเฟ้อ เป็นเรื่องปกติที่ประเทศซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อต่ำจะมีค่าเงินที่สูงเนื่องจากกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

(2) ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในระดับสูง เมื่อธนาคารกลางเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบไปยังอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา อัตราดอกเบี้ยที่สูงส่งผลให้ผู้ให้กู้ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการปล่อยกู้ในประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงดึงดูดการลงทุนข้ามชาติและส่งผลให้ค่าเงินปรับตัวสูงขึ้น อิทธิพลของอัตราดอกเบี้ยอาจถูกลดทอนได้เช่นกันหากประเทศนั้นๆมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าประเทศอื่นหรือมีปัจจัยอื่นๆที่ลดทอนค่าเงินลง ในทำนองกลับกันอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็จะส่งผลกระทบให้ค่าของเงินลดลงด้วย

(3)บัญชีเดินสะพัดขาดดุล อันมีความหมายว่าประเทศได้ใช้จ่ายเงินในกิจการค้าระหว่างประเทศเกินขีดความสามารถในการหารายได้ของประเทศ ส่งผลให้ต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศ หรืออาจกล่าวได้ว่าประเทศนั้นต้องการเงินตราต่างประเทศในจำนวนที่มากกว่าที่ประเทศได้รับจากการค้าส่งออก ส่งผลให้ค่าของเงินลดต่ำลงจวบจนกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศจะมีราคาต่ำลงในมุมมองของประเทศอื่นหรือต้นทุนเงินกู้จากต่างประเทศมีมูลค่าสูงเกินกว่าจะสามารถผลิตสินค้าขายในประเทศได้

(4) หนี้สาธารณะ ประเทศอาจแบกภาระทางการเงินเพื่อชำระโครงการสาธารณะต่างๆหรือเป็นไปเพื่อการลงทุนของภาครัฐ แม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่ประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะจะไม่เป็นที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอีกต่อไป เพราะหนี้สาธารณะในระดับสูงจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ หากประเทศเลือกแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มก็จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงตามมา หรือหากรัฐบาลไม่สามารถระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ก็จำเป็นต้องขายหลักทรัพย์ให้แก่ต่างชาติด้วยราคาที่ต่ำ และก่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่นักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับภาวะล้มละลายของประเทศ หลักทรัพย์ของประเทศดังกล่าวจะเสื่อมถอยด้อยค่า และผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันต่างๆจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อค่าเงิน

(5) Terms of trade คืออัตราส่วนราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้า Terms of trade มีความสัมพันธ์กับบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน หากราคาสินค่าส่งออกเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มราคาของสินค้านำเข้าก็จะส่งผลบวกต่อ Terms of trade และหาก Terms of trade สูงขึ้นนั่นหมายถึงมีความอุปสงค์ต่อสินค้าออกมากขึ้นด้วย ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกสูงขึ้นและนั่นย่อมหมายถึงมีความต้องการสกุลเงินตราของประเทศนั้นในตลาดโลกมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินปรับตัวสูงขึ้น

(6) เสถียรภาพทางการเมืองและความสามารถเชิงเศรษฐกิจ นักลงทุกต่างชาติต่างมองหาประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและมีเศรษฐกิจที่ดีเพื่อเลือกลงทุนในประเทศดังกล่าว หากประเทศใดสูญเสียความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองก็จะส่งผลให้ค่าเงินลดลงและเงินทุนจะไหลออกไปยังประเทศที่มีเสถียรภาพสูงกว่า

ปัจจัยสำคัญ 5 ประการ กับการเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา บ่อยครั้งที่มักจะได้ยินคำว่า “สงครามค่าเงิน” หรือ “Currency war” อันเป็นสงครามที่ไร้อาวุธยุทโธปกรณ์ แต่สามารถทำลายล้างเศรษฐกิจโลกได้ จากการที่ประเทศต่างๆ พยายามควบคุมค่าเงินสกุลของตนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ หรือการทำให้ค่าเงินของตนอ่อนค่า ดังจะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ประเด็นทางด้านค่าเงินเป็นประเด็นหลักที่นักลงทุนต่างจับตามอง ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน โดยมี 5 ปัจจัยหลักที่ต้องการหยิบยกมานำเสนอตามลำดับความสำคัญ ได้แก่

ปัจจัยแรก อัตราดอกเบี้ย โดยจะมีสองส่วนด้วยกันที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รายได้จากดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของเงินทุน จากปัจจัยนี้ จะเห็นว่า ทุกๆ สกุลเงินในโลก มีอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งจูงใจในการเคลื่อนไหว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวกำหนดโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ถ้าหากให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ โดยปกตินักลงทุนจะกู้ยืมเงินจากประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปลงทุนในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อธุรกรรมว่า The Carry trade ซึ่งผลที่ได้คือ กำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และได้กำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน จากการที่สกุลเงินของประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า มักมีแนวโน้มที่จะแข็งค่า

ปัจจัยต่อมา การเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากปัจจัยนี้จะสะท้อนได้ว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า หรือมีอัตราการขยายตัวที่ดีกว่ามีแนวโน้มที่ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยยับยั้งการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อ และจากปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมาว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเป็นตัวดึงดูดกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามา และอุปสงค์ของเงินที่ค่อนข้างมากจะทำให้มูลค่าของเงินมากขึ้นด้วยนั่นเอง

ปัจจัยที่สาม ภูมิศาสตร์การเมือง ความเสี่ยงทางเสถียรภาพทางการเมืองเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนต่างกังวล เนื่องจากกลัวว่าจะก่อให้เกิดอุปสรรค และความเสี่ยงต่อเงินทุน จึงมักจะโยกเงินลงทุนออกไปก่อนจนกว่าจะเห็นความชัดเจน และมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาทางการเมืองยังเป็นปัญหาที่จะฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อมายังค่าเงินตามปัจจัยข้างต้นที่ได้กล่าวถึงอีกด้วย

ปัจจัยที่สี่ การค้าและกระแสเงินทุน ในส่วนนี้ ควรแยกพิจารณา ว่าระหว่างรายได้จากการค้าระหว่างประเทศ กับกระแสเงินทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุน มีผลต่อมีปริมาณกระแสเงินทุนไหลเข้าออกของประเทศมากน้อยแค่ไหน และอะไรมีผลมากกว่า เพราะทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนจะการเคลื่อนไหวไปตามผลกระทบนั้นมากกว่า

ปัจจัยสุดท้าย การควบรวมกิจการของธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญน้อยที่สุดในการตัดสินใจทิศทางค่าเงินในระยะยาว แต่มีประสิทธิภาพมากสำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินในระยะสั้น เนื่องจากเมื่อมีบริษัทในประเทศหนึ่ง จะซื้อสินทรัพย์ของบริษัทในอีกประเทศหนึ่ง ก็จะมีความจำเป็นที่ต้องแลกเงินเป็นสกุลเงินนั้นเพื่อใช้ในการชำระสินทรัพย์ดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้จะทำให้ตลาดคาดการณ์ความผันผวนในระยะสั้นได้ว่า ค่าเงินสกุลที่เป็นที่ต้องการจะปรับตัวแข็งค่า