ญี่ปุ่นใช้ Negative Interest Rate กดดันตลาดเงินโลก ไทยหวั่นเงินบาทผันผวน


 

Negative Interest Rate เป็นวิธีที่ทุกประเทศใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดแรงจูงใจของธนาคารพาณิชย์ ด้วยการนำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารกลาง เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยกู้มากขึ้น

ข้อมูลจาก www.exim.go.th เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ที่ผ่านมาธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นใช้ Negative Interest Rate เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นฝากไว้ จากเดิม 0.1% มากำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ย 3 ขั้น ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสุดอยู่ที่ -0.1% โดย อัตราดอกเบี้ย 3 ขั้นได้แก่ 0.1% , 0% และ-0.1% ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้

จากการวิเคราะห์ของ Exim Bank พบว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นอาจพิจารณาผลักภาระอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแก่ลูกค้ารายย่อยและภาคธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนนำเงินไปใช้จ่าย ส่วนภาคธุรกิจนำเงินไปลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับที่ไม่น่าจูงใจ

นอกจากนี้ Negative Interest Rate อาจส่งผลทางอ้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทำให้นักลงทุนโยกเงินไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในต่างประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากญี่ปุ่นและกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลง ทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นฟื้นตัวดีขึ้น

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือ ผลจาก Negative Interest Rate มีแนวโน้มจะทำให้เกิดสงครามค่าเงิน เนื่องจากเงินเยนของญี่ปุ่นจะอ่อนค่าลงทันทีราว 1.8% จึงมีความเป็นไปได้ว่าประเทศอื่น ๆ จะดำเนินรอยตามญี่ปุ่นเพื่อรักษาสถานการณ์การแข่งขันของประเทศไว้ และเงินบาทไทยเองก็จะมีการผันผวนตามอย่างแน่นอน เพราะผลจาก Negative Interest Rate จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น จึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการส่งออกควรระวัง และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป