SCB ฟันเปรี้ยงภายใน 3 ปี สินเชื่อ SME โต 3 แสนลบ.


 

ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ SME ภายใน 3 ปี เหยียบ 3 แสนล้านบาท เผยสิ้นปีสินเชื่อ SME ทะลุ 1.5 แสนล้านบาท มั่นใจทั้งปีฟันกำไรปล่อยกู้ SME 5.6 พันล้านบาท ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ไม่เกิน 3% ต่อปี ชี้ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1% ขณะที่ NPL รวมของธนาคารอยู่ที่ 4.8-5%

นายศิริชัย สมบัติศิริ รองผู้จัดการใหญ่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ในปี 2553 ธนาคารตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อม (SME) อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท โดยมีส่วนทางการตลาดประมาณ 10-11% ของตลาดสินเชื่อรวม SME ที่มีอยู่ 1.4 ล้านล้านบาท รวมทั้งยังคาดว่าสิ้นปีนี้ธุรกิจ SME จะมีกำไรอยู่ที่ 5.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของกำไรจากพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร

“ธุรกิจ SME ของเราจะขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งเป็นการเติบโตที่สอดคล้องไปกับตลาดรวม SME ที่จะขยายตัวมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เพราะพอร์ตสินเชื่อ และกำไรจากธุรกิจ SME จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 ของพอร์ตสินเชื่อรวม หรือมีสัดส่วนประมาณ 30%” นายศิริชัย กล่าว

ในช่วงครึ่งปีแรกธนาคารมียอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.78 แสนล้านบาท แต่ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารมีการโอนสินเชื่อออกไปจากพอร์ตประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยแบ่งหน่วยธุรกิจในการดูแลการปล่อยสินเชื่อเป็น 3 ส่วน ซึ่งหลังจากการโอนเพื่อปรับโครงสร้างแล้วเสร็จ ในส่วนของสินเชื่อ SME จะเหลือพอร์ตสินเชื่อประมาณ 1.3 แสนล้านบาท

สำหรับยอดสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการอนุมัติ แต่ธนาคารมีการอนุมัติวงเงินไปแล้วประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมียอดสินเชื่ออนุมัติใหม่อีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อสุทธิอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนนโยบายการควบคุมคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ SME ในปีนี้จะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ใหม่ไม่เกิน 3% ต่อปี โดยในช่วงครึ่งปีแรก NPL อยู่ในระดับต่ำมากเพียง 1% กว่าเท่านั้น ขณะที่ NPL รวมของธนาคารอยู่ที่ 4.8-5%

นอกจากนี้ การที่ธนาคารเริ่มรุกตลาดธุรกิจ SME มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ โดยธนาคารมีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อลูกค้า SME ประมาณ 3-4 ผลิตภัณฑ์ต่อปี เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อ SME จะเริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วย โดยสินเชื่อ SME เป็นสินเชื่อที่มีมาร์จิ้นค่อนข้างดีมาก

ขณะที่สัดส่วนรายได้ของพอร์ตสินเชื่อ SME มาจากรายได้จากค่าธรรมเนียม 22% รายได้จากดอกเบี้ย 78% โดยจะเริ่มเน้นเพิ่มสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมมากขึ้นเป็น 35% และรายได้จากดอกเบี้ยเป็น 65% และในระยะยาวมีแผนที่จะพยายามให้สัดส่วนรายได้จากทั้งสองส่วนเท่ากัน

ที่มา : smartsme.tv