เอสเอ็มอีแบงก์ สนับสนุนนโยบายรัฐบาลส่งเสริม SMEs ทำบัญชีเดียว


 

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ไม่ตรวจสอบบัญชีย้อนหลังสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้าสู่มาตรการบัญชีเล่มเดียว โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง เอสเอ็มอีแบงก์ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการดึงผู้ประกอบการ SMEs ลูกค้าของธนาคารเข้าสู่ระบบดังกล่าว

ทั้งนี้ ทางธนาคารได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนลูกค้าธนาคารทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการจัดทำฐานบัญชีเดียวของรัฐบาล และใช้เครือข่ายสาขาของธนาคาร 95 แห่งทั่วประเทศ ที่มีพนักงานกว่า 400 คน ไปร่วมรณรงค์ทำความเข้าใจกับลูกค้าในเรื่องดังกล่าว โดยแจ้งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคลที่มีรายได้ในรอบระยะเวลาในหรือก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ไม่เกิน 500 ล้านบาท หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาทในรอบบัญชีปี 2558 ให้จดแจ้งต่อกรมสรรพากรในการใช้บัญชีเล่มเดียว จะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง โดยเปิดให้มีการจดแจ้งการใช้บัญชีเล่มเดียวผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทางเว็บไซน์ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ถึง 15 มี.ค. 2559 โดยคาดว่าจะมีลูกค้าธนาคารไม่น้อยกว่า 3,000 รายเข้าร่วมจดทะเบียนกับกรมสรรพากร

กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวอีกว่า ธนาคารอยากให้ผู้ประกอบการ SMEs ลูกค้าธนาคารให้ความร่วมมือกับโครงการนี้ เพราะจะได้รับประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกเหนือจากการได้รับการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังตาม พ.ร.ก. ดังกล่าวแล้ว ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในรอบบัญชีปี 2559 และยกเว้นและลดภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบบัญชีปี 2560 เป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรระบุ รวมถึง ต่อไปในอนาคตจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs มีหลักฐานความน่าเชื่อถือการประกอบกิจการในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินธุรกิจในการขยายกิจการต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของเอสเอ็มอีแบงก์ในปี 2559 ที่เน้นบทบาทเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา หรือ SME Development Bank ที่นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านเงินทุนแล้ว บทบาทสำคัญอีกด้าน คือการให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในด้านการบริหาร การผลิต การตลาด และในรูปแบบต่างๆ หรือเป็นพี่เลี้ยงทางธุรกิจในการสร้างเครือข่ายและร่วมมือกับ หน่วยงานพันธมิตร เช่น สสว. กระทรวงอุตสาหกรรม หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สมาพันเอสเอ็มอี และภาคีเครือข่ายอื่นๆ เพื่อมาต่อยอดยกระดับผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ตลอดจนภารกิจด้านร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ SMEs ตามแนวนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ที่มา : smartsme.tv