สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น หรือ กำลังพัฒนาปัจจัยหลัก คือ เงินทุน ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายทุกครั้งไป การเตรียมความพร้อม การสร้างความน่าเชื่อถือในตัวบุคคลหรือธุรกิจ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถ กู้เงิน หรือ ขอสินเชื่อ จากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำมาลงทุนได้
จึงอยากจะแนะนำ 6 สิ่งที่ผู้ประกอบการควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนยื่น กู้เงิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละธนาคารด้วยเช่นกัน
1.แผนธุรกิจ (Business Plan) นี่คือหัวใจหลักของธุรกิจ การดำเนินธุรกิจควรจะมีแผนการที่วางไว้อาจจะแบ่งออกเป็น แผนระยะสั้น 1 – 3 ปี และแผนระยะยาว 3 – 5 ปี ซึ่งแผนธุรกิจเป็นสิ่งแรกที่ธนาคารนำมาเป็นหนึ่งในการตัดสินใจเลยก็ว่าได้ เพราะแผนธุรกิจที่ดีจะแสดงให้เห็นว่าผู้กู้มีความเข้าใจในตัวธุรกิจของตนมากน้อยแค่ไหน และธุรกิจมีความเป็นไปได้หรือเป็นไปในทิศทางใด โดยทั่วไปแผนธุรกิจจะประกอบด้วยแผนการเงินที่ใช้บริหารค่าใช้จ่าย รายได้ ต้นทุน และคำนวณความคุ้มค่าของการลงทุน แผนการตลาด แผนการบริการบุคคล แผนการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งแผนธุรกิจจะวิเคราะห์และแสดงข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ ยิ่งละเอียดยิ่งดี ดังนั้นผู้กู้จะต้องเตรียมเอกสารให้พร้อมเพราะอาจถูกถามจากธนาคารได้ ธนาคารจะประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ และวิเคราะห์ไปจนถึงว่าผู้กู้จะมีเงินจ่ายหนี้หรือไม่ 2.เดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอ (Statement) เพื่อแสดงรายรับรายจ่าย การเดินบัญชีเป็นการสร้างประวัติธุรกิจของคุณกับธนาคาร เพื่อใช้ดูกระแสเงินสด เข้า – ออกบัญชี ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึง รายรับ – รายจ่าย ที่เกิดขึ้นของธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยธนาคารจะนำข้อมูลนี้มาใช้ประกอบในการพิจารณาสินเชื่อ ดังนั้นธุรกิจควร รับ – จ่ายเงิน ผ่านบัญชีธนาคารเป็นประจำทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ หรือนอกจากนี้เพื่อความมั่นใจของผู้กู้ควรเตรียมหลักทรัพย์ค้ำประกันไว้ด้วย เพราะถึงแม้ว่าแผนธุรกิจจะดีแค่ไหน การอนุมัติวงเงินกู้ทำธุรกิจก็ยังถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียและเงินสูญ โดยเฉพาะธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันหลังจากเปิดตัวไม่นานก็จะพากันปิดตัวลง ธนาคารจึงต้องมั่นใจว่าเงินที่ให้ธุรกิจกู้ยืมไปจะต้องได้รับการใช้คืน
3.รักษาเครดิตของตนเองให้ดูดีอยู่เสมอ การรักษาเครดิตถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในตัวบุคคล ปัจจุบันข้อมูลเชื่อมโยงถึงกันหมดเพราะข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจกู้ควรทำเครดิตของตัวเองให้ดูดีเข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นเครดิตส่วนบุคคล การผ่อนชำระสิ่งของ ผ่อนชำระ บ้าน รถ หรือกู้สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้ต้องชำระให้ตรงตามกำหนดเวลาทุกครั้ง การจ่ายช้าเพียงหนึ่งวันของเราด้วยความไม่รู้หรือไม่ได้ใจ อาจกระทบต่อเครดิตของเราได้ 4.เอกสารการค้าทุกอย่างต้องเก็บไว้ เอกสารการค้าที่แสดงให้เห็นถึงรายรับ-รายจ่ายของธุรกิจคุณ ไม่ว่าจะเป็น บัญชีซื้อ บัญชีขาย สำเนาใบกำกับภาษี ใบสั่งซื้อ ใบเสร็จรับเงิน เอกสารเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประกอบการขอสินเชื่อได้ ในกรณีที่เงินหมุนเวียนในบัญชีของคุณไม่แสดงถึงรายได้ที่แท้จริงของธุรกิจ 5.ขอสินเชื่อให้เหมาะกับความต้องการ การพิจารณาสินเชื่อธนาคารจะดูจากความสามารถในการชำระหนี้ โดยพิจารณาจากรายได้ ภาระหนี้สินและค่าใช้จ่าย ซึ่งจะสะท้อนถึงความต้องการทางการเงินของธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการควรรู้ความต้องการเงินลงทุนที่แท้จริงของธุรกิจตนเอง เพื่อขอกู้จากธนาคารในวงเงินที่ไม่มากเกินความจำเป็น เพราะอย่าลืมว่าเงินกู้นั้นมีดอกเบี้ยจ่ายที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นภาระในระยะยาว หากเกิดการผิพลาดอาจทำให้ทั้งระบบเสียไปเลยก็ได้ 6.ศึกษาเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ของแต่ละธนาคาร ควรดำเนินการขอกู้และส่งเอกสารไปยังแหล่งเงินกู้หลายๆที่ เพื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย วงเงินกู้ ระยะเวลาของการกู้ รวมถึงสิทธิพิเศษที่ควรจะได้รับจากแต่ละแหล่งเงินทุนเปรียบเทียบกันก่อน เพราะการที่เรารู้ว่าแต่ละธนาคารให้เราได้เท่าไหร่ บนเงื่อนไขอะไร นั่นจะทำให้ผู้ประกอบการมีอำนาจในตัดสินใจมากขึ้น และยังสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการต่อรองกับธนาคารเพื่อของสิทธิพิเศษต่างๆ ได้อีกด้วย หลังจากเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดแล้วเราก็สามารถเลือกกู้เงินทำธุรกิจจากแหล่งเงินทุนที่ผู้ประกอบการพึงพอใจที่สุดได้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม หรือสามารถตรวจสอบตัวเองได้ว่ามีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจมาหแค่ไหน เพราะเมื่อตัดสินใจกู้แล้วนั่นหมายถึงภาระในระยะยาวที่ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบ Self Development อื่นๆ คลิก