แก้กฎหมาย บมจ. ดันใช้อิเล็กทรอนิกส์ช่วยลดรายจ่าย และการขาดประธานนำประชุม


ปัจจุบันมีบริษัทมหาชนจำกัด หรือ บมจ. ทั้งสิ้น 1,218 ราย คิดเป็น 0.17% ของจำนวนนิติบุคคลที่คงอยู่ทั้งหมดกว่า 714,478 ราย โดย บมจ. มีทุนจดทะเบียนรวม 5.15 ล้านล้านบาท หรือกว่า 28.98% ของทุนจดทะเบียนนิติบุคคลที่คงอยู่ทั้งหมดกว่า 17.77 ล้านล้านบาท

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่..) พ.ศ….ที่เห็นชอบจาก ครม.เมื่อ 26 พ.ย. 61 ว่าหัวใจหลักของการแก้ไขเพิ่มเติมคือ การอำนวยความสะดวก เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทมหาชนจำกัด กรรมการ และผู้ถือหุ้น โดยสาระสำคัญของ แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มี 2 ประเด็นหลัก คือ

1. การเพิ่มช่องทางการโฆษณา ส่งเอกสาร การประชุมกรรมการ และการมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทน ให้สามารถดำเนินการทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ประกอบด้วยมาตรา 6 การเพิ่มช่องทางโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์นอกจากทางหนังสือพิมพ์ มาตรา 7 เพิ่มช่องทางการส่งเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 79 เพิ่มช่องทางการประชุมกรรมการให้สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เพิ่มมาตรา 102/1 เพิ่มช่องทางการมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-proxy

2. ปรับปรุงวิธีการเรียกประชุมกรรมการ กรณีบริษัทไม่มีประธานกรรมการ หรือประธานกรรมการไม่สามารถทำหน้าที่ได้ และไม่มีการกำหนดวันประชุมคณะกรรมการไว้ล่วงหน้า โดยให้กรรมการ 2 คน ที่ร้องขอสามารถเรียกประชุมกรรมการได้ ตามมาตรา 81 และ มาตรา 82 นอกจากนี้ ยังแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายให้ออกประกาศได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ได้แก้ไขปรับปรุง

ขั้นต่อไปจะส่งร่างกฎหมายฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยไม่ต้องส่งเข้า ครม. แต่จะส่งไปยังคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาแล้วนำเสนอ สนช. ต่ออีก 3 วาระ คาดจะตราบังคับใช้กลางปี 62