ธ.ก.ส.เตรียมออก “พันธบัตรต้นไม้” ได้เงิน แถมดีต่อสิ่งแวดล้อม


พันธบัตรการตอบแทนระบบนิเวศ หรือพันธบัตรต้นไม้ ธ.ก.ส. ลั่น ระบุ ได้ผลตอบแทน 2 ส่วน ทั้งตัวเงินการดูแลสิ่งแวดล้อม เตรียมประสาน ตลท. คาด ชัดเจนภายในไตรมาส 2 ปี 2562

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. เตรียมออกพันธบัตรการตอบแทนระบบนิเวศ หรือพันธบัตรต้นไม้ (Tree Bond) ซึ่งพันธบัตรนี้ไม่ใช่เพื่อการระดมทุน แต่เป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการและรายละเอียดกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 2 ปี 2562

โดยผลตอบแทนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผลตอบแทนเป็นตัวเงินและผลตอบแทนที่สามารถใช้เป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และอยู่ระหว่างการหารือกับกรมสรรพากร เพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย

นอกจากนี้ ภายในปี 2563 ธนาคารได้จัดเตรียมโครงการสินเชื่อส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) วงเงิน 5,000 ล้านบาท เบื้องต้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ MRR – ร้อยละ 1 หรือประมาณร้อยละ 6 ต่อปี เพื่อส่งเสริมการสร้างชุมชนเกษตรอินทรีย์อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ชุมชน และสินเชื่อปลูกป่าระยะยาว ระยะเวลา 15 – 20 ปี บนที่ดินของตนเองและของชุมชน 

เพื่อสนับสนุนให้มีการปลูกไม้มีค่าทุกชนิด ไม่ได้จำกัดแค่ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 58 ชนิดเท่านั้นและยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในที่ดิน เปรียบเสมือนการออมทรัพย์หรือการลงทุนระยะยาว ส่วนอัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมว่าเป็นเท่าใด อาจจะมีระยะปลอดดอกเบี้ยด้วย

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ร่วมกับกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เพื่อขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ซึ่งมี เป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 2,000 ชุมชน มีประชาชนได้รับประโยชน์ 100,000 ครัวเรือน มีจำนวนต้นไม้ในประเทศเพิ่มขึ้น 40 ล้านต้นภายใน 1 ปี โดยจะมีการดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสร้างชุมชนไม้มีค่าให้ได้ 20,000 ชุมชน มีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 2.6 ล้านครัวเรือน และมีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้น 1,040 ล้านต้น ภายใน 10 ปี

โดยในส่วนของ ธ.ก.ส.มีแผนงานยกระดับโครงการธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส.สู่ชุมชนไม้มีค่า ซึ่งจะมีการพัฒนาผู้ตรวจประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อเป็นหลักประกันทางธุรกิจและผู้ประเมินการกักเก็บคาร์บอน รวม 4,000 คน แผนการสนับสนุนการกักเก็บคาร์บอนตามแนวทางโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) ให้กับ 6,804 ชุมชน รวมถึงการสร้างวิสาหกิจชุมชนด้านผลิตภัณฑ์ไม้ของชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่า จากการนำวัตถุดิบที่ได้จากต้นไม้ เช่น กิ่ง ใบ ลาต้น มาแปรรูปไม้และสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยมีเป้าหมาย 400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกธนาคารต้นไม้กว่า 6,827 ชุมชน จำนวนสมาชิก 117,461 ราย และมีต้นไม้ที่ขึ้นทะเบียนในโครงการ 11,846,190 ต้น