จากจำนวนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี (SMEs) ที่มีเกือบ 3 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 99.7 ของธุรกิจทั้งหมด และมีการจ้างงานกว่า 50 % ของธุรกิจ ขณะที่นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย ได้เน้นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี 2568 จากร้อยละ 36 ในปี 2561 ทำให้ เอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ปัจจุบัน เอสเอ็มอีไทย ยังประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจหลายประการ อาทิ ปัญหาด้านการตลาด การขาดแหล่งเงินทุน ปัญหาด้านแรงงานที่มีอัตราการหมุนเวียนเข้าออกสูง รวมถึงปัญหาเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น โดยปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ คือ เรื่องเงินลงทุน โดยเฉพาะการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาลงทุน หรือขยายธุรกิจ หรือเสริมสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีการทำบัญชีที่เป็นระบบ ขาดหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ ไม่มีผลงานที่น่าเชื่อถือมาก่อน รวมถึงการบริหารยังไม่เป็นมืออาชีพเท่าที่ควร ส่งผลให้สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ
ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นให้ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี แต่ก็จะได้รับเฉพาะรายที่มีความพร้อมและเข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารเท่านั้น แม้ว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) พยายามให้การสนับสนุนทั้งด้านการให้ข้อมูลความรู้ เงินทุน สินเชื่อ แต่ก็ทำได้จำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนเอสเอ็มอีที่มีจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถทำได้ทั่วถึงและเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน ได้พยายามคิดค้นกลยุทธ์ให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการออกมาตรการต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
เริ่มจาก ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้ให้การสนับสนุนเอสเอ็มอี ด้วยการจัดสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 ดอกเบี้ย 0.08% ต่อเดือน หรือ 1% ต่อปี คงที่นาน 7 ปี กู้ 1 ล้านบาทผ่อนเพียง 410 บาทต่อวัน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ เพื่อธุรกิจเกษตร แปรรูปอาหาร ท่องเที่ยวชุมชน ค้าปลีก-ค้าส่ง และอาชีพอิสระ บุคคลธรรมดา ดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน ถ้าเป็นนิติบุคคล เหลือเพียง 0.25% ต่อเดือน เป็นต้นเพื่อเปิดโอกาสให้รายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ นับตั้งแต่ต้นปี 2558 ถึง ม.ค.2562 ที่ผ่านมา ธพว.ได้อำนวยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน 64,037 ราย ยอดสินเชื่อรวมกว่า 157,617 ล้านบาท
ด้านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดสรรเงินกองทุน ภายใต้แผนบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการ เศรษฐกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล จำนวน 1,234.7077 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้านของ สสว. ปี 2562 ในการส่งเสริมเอสเอ็มอี รวมกึงการเน้นให้ความรู้ด้านเงิน ทั้งความรู้ความเข้าใจในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ความรู้ด้านการเงินและภาษี และความรู้ด้านการเงินสำหรับการค้าระหว่างประเทศ
ฝั่งธนาคารกรุงไทย ได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประชารัฐและนโยบายรัฐ เน้นค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีที่หลักประกันไม่เพียงพอ หรือขาดหลักประกัน โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันใน 3 ปีแรก โดยวงเงินค้ำประกันรวม 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ อาทิ สินเชื่อ Krungthai sSME ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ที่ติดตั้งเครื่อง EDC และจะขยายไปยังร้านค้าที่ติดแอปพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ กรณีไม่มีหลักประกัน ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยให้ บสย.ค้ำประกัน, สินเชื่อ Krungthai sSME ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 4% ต่อปี, สินเชื่อ Krungthai sSME EEC 4.0 สำหรับผู้ประกอบการหรือคู่ค้าที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กรณีไม่มีหลักประกัน ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยให้ บสย.ค้ำประกัน, สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-Curve และ สินเชื่อ Krungthai Mini Bus สนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร เพื่อเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส ให้กู้สูงสุดรายละไม่เกิน 20 ล้านบาท
ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย ได้เสนอแคมเปญสินเชื่อบุคคลสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่สูง เริ่มจากบัตรกดเงินสด เค-เอ็กซ์เพรส แคช ที่เจาะกลุ่มผู้มีเงินเดือนตั้งแต่ 7,500 บาทขึ้นไป วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาสูงสุด 90 วัน
ในส่วนของ ธนาคารยูโอบี (ไทย) ร่วมกับ เดอะ ฟินแล็บ ซึ่งเป็นกิจการที่ยูโอบีสิงคโปร์ร่วมจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 มีโครงการบ่มเพาะสำหรับสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในสิงคโปร์ เปิดตัวโครงการ Smart Business Transformation เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยให้สามารถเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลเต็มตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น โดยยูโอบีจะให้การสนับสนุนแผนธุรกิจและการเงินเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
ด้าน ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ใช้ช่องทางออนไลน์ทำการค้า หรืออีคอมเมิร์ซ โดยร่วมเป็นพันธมิตรกับกูเกิล เพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีหน้าร้านบนออนไลน์ผ่าน กูเกิล มาย บิซิเนส ที่เชื่อมกูเกิลแมปนำทางไปเจอร้านได้รวดเร็ว ปัจจุบันมีลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารไทยพาณิชย์ใช้งาน กูเกิล มาย บิซิเนส แล้ว 1 แสนราย จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าเอสเอ็มอี 4-5 แสนราย พร้อมตั้งเป้าหมายปี 2563 จะขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีได้เท่าตัว และเพิ่มจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีที่ใช้งาน กูเกิล มาย บิซิเนส เป็น 1 ล้านราย
นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ โดยร่วมมือกับ บริษัท ชิปจัง จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์มบริการขนส่งพัสดุครบวงจร ช่วยให้เอสเอ็มอีส่งสินค้าถึงมือผู้ซื้อได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผ่านระบบจองขนส่งออนไลน์ที่รวบรวมผู้ให้บริการขนส่งชั้นนำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อาทิ ไปรษณีย์ไทย ดีเอชแอล และ เอสซีจี เอ็กซ์เพรส เป็นต้น
ปิดท้ายด้วย ธนาคารทหารไทย ที่เปิดบริการสาขาแนวคิดใหม่ ทีเอ็มบี เอ็กซ์พีเรียนซ์ โดยออกแบบขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ค้นหาตัวตนทางการเงิน ด้วยการสร้างตัวตนในรูปแบบอวตาร (Avatar) จากนั้นจะได้รับคิวอาร์โค้ด เพื่อรับการนำเสนอข้อมูลต่างๆ และคำแนะนำที่เหมาะสม รวมถึงจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของทีเอ็มบีติดต่อกลับให้คำปรึกษาตามรายละเอียดที่ผู้ประกอบได้แจ้งความจำนงไว้ เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆ ได้ตอบโจทย์และตรงใจมากขึ้น
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธนาคารรายใหญ่ที่ให้การสนับสนุนเอสเอ็มอี เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น แต่ที่สำคัญคือ เอสเอ็มอีต้องพยายามปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ด้วยการเพิ่มเติมความรู้ด้านการตลาด การบริหารจัดการ ตลอดจนการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต
และอีกประเด็นที่น่าพิจารณาคือ การทำบัญชีเดียว หรือ บัญชีที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นเครดิตที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะสามารถบ่งบอกสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการได้ ทำให้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้า และที่สำคัญคือ ธนาคารจะสามารถวิเคราะห์และปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ช่วยปลดล็อกปัญหาให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นอีกทางหนึ่ง