แนวโน้มตลาดเงิน-การลงทุนจะเป็นอย่างไร หลังความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่านทวีความรุนแรงขึ้น


ขณะนี้ทั่วโลกต่างจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน หลังจากเหตุการณ์ลอบสังหาร Soleimani นายพลคนสำคัญ จึงเกิดการวิเคราะห์กันว่าอาจนำมาสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นในอนาคต

ในด้านการเงิน การลงทุน นักลงทุนหลายรายมีความกังวลว่าความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น ก็เป็นได้ ดังนั้น ในบทความนี้เรามาดูบทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจถึงทิศทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

1.”ทองคำ” ยังเป็นที่ต้องการ

Oanda มองว่าความเสี่ยงที่จะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน-สหรัฐฯ น่าจะทำให้หุ้นตกอยู่หลายเดือน และนักลงทุนจะผลักดันการลงทุนไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยกว่า โดยการโจมตีทางอากาศ ตลอดจนการเสียชีวิตของนายพล Soleimani คือจุดเริ่มต้นความเคลื่อนไหวของตลาด

เช่นเดียวกับ Edward Moya นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโส เผยว่าทุกภูมิภาคกำลังอยู่ในความเสี่ยง และหุ้นอาจจะตกลงได้อีก โดยนักลงทุนไม่คาดคิดว่าจะมีสงครามในตะวันออกกลาง และทองยังเป็นตลาดสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยที่นักลงทุนมีความชื่นชอบ

Moya ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ช่องทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสกุลเงินเยนสามารถเป็นที่พักพิงรองรับกับสถานการณ์ความผันผวนที่เกิดขึ้น แต่ทองคำยังคงเป็นราชาในสินทรัพย์จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดจะลดลง

อีกทั้ง มีการคาดการณ์ว่าราคาทองจะสูงขึ้นจากปี 2019 ไปแตะราคา 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนจบเดือนมกราคมนี้

2.พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

Wedbush นักวิเคราะห์จาก Dan Ives มองว่าหุ้นที่ตกลงถือเป็นโอกาสทองที่นักลงทุนจะเข้าไปซื้อ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีราคาลดลง โดยในปี 2019 หุ้นเทคโนโลยีกลายเป็นหุ้นที่มีการปรับตัวสูงที่สุดในรอบทศวรรษ และเชื่อว่าในปี 2020 ยังคงเติบโตได้สูงขึ้นอีก

“เราควรใช้ความอ่อนแอของตลาดในตอนนี้เข้าไปซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Apple, Nuance, CyberArk, Fortinet, Varonis, SailPoint และ Zscaler”

3.เพิ่มโอกาสที่จะเกิดสงคราม

Capital Economics วิเคราะห์ว่าการลอบสังหารนายพล Soleimani เป็นการส่งสัญญาณความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน เพิ่มโอกาสที่จะก่อให้เกิดสงคราม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ GDP โดยตรงของโลกประมาณ 0.3%

โดย Jason Tuvey นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวว่าความขัดแย้งในวงกว้างไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอิหร่าน ประมาณการได้กับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างกว้างขวาง

Tuvey เพิ่มเติมว่า ผลกระทบต่อประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกาตอนเหนือเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

4.นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนก

David Donabedian หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุน CIBC มองว่านักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากจนเกินไป แม้อิหร่านจะมีการตอบโต้ แต่ยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปีนี้ยังเป็น “ตลาดกระทิง”

Donabedian ยังชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ, นโยบายทางการคลัง และผลกำไรของบริษัท ยังอยู่ในขั้นน่พึงพอใจอยู่

5. มองระยะยาว

ธนาคาร UBS กล่าวว่านักลงทุนควรมีความนิ่ง และควรปรับกลยุทธ์การลงทุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่จะทำให้ตลาดต้องขาลงได้ สิ่งสำคัญ คือนักลงทุนต้องมองผลลัพธ์ในระยะยาว สอดคล้องกับแผนการเงินที่วางเอาไว้

อีกทั้ง ธนาคารยังมองว่าไม่ควรคาดหวังกับการแข่งขันในราคาน้ำมัน และทองยังคงเป็นสินทรัพย์การเป็นแหล่งพักเงินในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง

6.อาจไม่ถึงขั้นทำสงคราม

ตอนนี้มีการเฝ้าระวังอยู่ว่าอิหร่านจะตอบโต้โจมตีสหรัฐฯ อย่างไร ซึ่งมีการวิเคราะห์จาก Ian Shepherdson นักเศรษฐศาสตร์ Pantheon Macroeconomics ระบุว่า อิหร่านคงไม่ใช้วิธีการตอบโต้แบบเต็มรูปแบบ แต่อาจจะไปใช้วัตถุดิบที่สำคัญอย่าง “น้ำมัน” เป็นการตอบโต้

ที่มา: businessinsider