ส่อง! ผลประกอบการของธนาคารในประเทศไทยปี 2562


เป็นประจำทุกปีที่ธนาคารแต่ละที่จะมาเปิดเผยผลประกอบในการดำเนินการตลอดทั้งปี เช่นเดียวกับปี 2562 ที่ผลประกอบการออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น บทความนี้ Smartsme จะพาไปดูรายได้ของธนาคารในประเทศไทยในปี 2562 ว่าจะมีกำไรมากน้อยแค่ไหนบ้าง

ธนาคารกสิกรไทย

ผลการดำเนินงานของธนาคารกสิกรไทยในปี 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 38,727 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2561 มีกำไรสุทธิจำนวน 38,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 268 ล้านบาท หรือ 0.70% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,150 ล้านบาท หรือ 4.21% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.31%

นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 858 ล้านบาท หรือ 1.51% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง รวมทั้งการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 4,381 ล้านบาท หรือ 6.41% หลัก ๆ เกิดจากกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ และกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของธนาคาร ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 45.32%

ธนาคารกรุงไทย

ในปี 2562 ธนาคารกรุงไทย และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 29,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่มาจากการได้รับเงินบางส่วนจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองจำนวน 3,899 ล้านบาทในไตรมาส 1/2562 และการเพิ่มขึ้นของกำไรจากเงินลงทุนสุทธิ แม้ว่าค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานของธนาคารเพิ่มขึ้น จากการกันสำรองด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานในไตรมาส 3/2562 หากไม่รวมรายการพิเศษของรายได้ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายดังกล่าว กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้น 18.2% จากปี 2561 โดยมี NIM ที่ไม่รวมรายการพิเศษเท่ากับ 3.07% ลดลงเล็กน้อยจาก 3.13% ในปี 2561 เนื่องจากได้รับผลกระทบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อในครึ่งหลังของปี แม้ว่าธนาคารมีการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ Cost to Income ratio ที่ไม่รวมรายการพิเศษเท่ากับ 43.58% ลดลงจาก 45.29% ในช่วงเดียวกันของปี 2561

ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองของปี 2562 จำนวน 95,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต โดยธนาคารมีการตั้งสำรองพิเศษในปี 2562 ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) จำนวน 40,436 ล้านบาท

ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3% จากปีก่อนเป็นจำนวน 99,402 ล้านบาท แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 อยู่ในขาลง และยอดสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ธนาคารยังคงสามารถขยายฐานรายได้จากการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง

ทั้งนี้ ธนาคารประกาศเงินปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น โดยมีกำหนดจ่ายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

ธนาคารกรุงเทพ

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารในปี 2562 จำนวน 35,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากปีก่อนท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.3 เป็นผลจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้น กอปรกับการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมสอดคล้องกับเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคาร รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อย โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.35 รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.3 จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน

แม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับทรงตัว ธนาคารมีการตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในปีนี้ เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ทางบัญชีซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการกันสำรองที่ลดลง

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.4 จากปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับดีที่ร้อยละ 41.1

ธนาคารกรุงศรี

ธนาคารกรุงศรี และบริษัทในเครือ มีผลประกอบการในปี 2562 โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 32.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.0% จากปี 2561 โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่แข็งแกร่งที่ 8.7% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารที่ 6 – 8% การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2562 สะท้อนความสามารถและความคล่องตัวของธนาคารในการปรับพอร์ตสินเชื่อไปสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง และสอดคล้องกับเป้าหมายโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อเพื่อรายย่อยและสินเชื่อเพื่อธุรกิจในสัดส่วน 50:50 ตามเป้าหมายระยะกลางของธนาคาร”